เดือนมิถุนายน ถือเป็นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride month อย่างที่ทุกคนรู้กันดีครับ ทุกครั้งที่เดือนนี้โคจรมาถึง หน้าฟีดโซเซียลของทุกคนคงเต็มไปด้วยธงสีรุ้งรูปขบวนพาเหรดและงานเฉลิมฉลองหลายที่ของเหล่า LGBTQ+ แม้ภาพที่เห็นจะดูสนุกสนานรื่นเริง ร้องเล่นเต้นระบำ แต่กว่าที่เขาและเธอเหล่านั้นจะสามารถสนุกสนานเฮฮาแบบทุกวันนี้ต้องผ่านประวัติศาสตร์ที่ต้องต่อสู้กับอะไรมาบ้าง เราจึงอยากพาทุกคนย้อนเวลาไปดูเรื่องราวเหล่านั้นกันผ่านภาพผลงานศิลปะกัน
>> สมรสเท่าเทียม ที่รอให้เท่ากัน
สำหรับในประเทศไทยก็มีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทุกคนคงพบเห็นกระแสรณรงค์ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต ถึงแม้ทางสภาผู้แทนฯ รับร่างกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศแต่ก็ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดปลายอุโมงค์ที่ยังมีด่านต่อสู้ในชั้นนิติบัญญัติอีกหลายด่าน แต่ถึงอย่างนั้น สถานการณ์ตอนนี้ก็ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีของประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางความคิดของชาว LGBTQ+ ในประเทศของเรา
จากสถิติชี้ให้เราเห็นว่า ประเทศไทยเรานั้นถูกยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีผู้คนหลากหลายทางเพศใช้ชีวิตอยู่ได้ดีมากในอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับบทลงโทษในอีกหลายประเทศ ทำให้เรากลายเป็นประเทศที่เฟรนด์ลี่กับนักท่องเที่ยวเพศทางเลือกและเป็นอีกจุดมุ่งหมายในการย้ายประเทศหรือชาวต่างชาติคู่รักเพศทางเลือกอยากใช้ชีวิตในการเกษียณในช่วงบั้นปลายชีวิต
ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ เราอยากจะชี้ให้เห็นเหลือเกินว่า การสมรสเท่าเทียมนั้นเป็นอีกประตูบานสำคัญที่จะช่วยยกระดับทั้งเศรษฐกิจและความเสมอภาคของมนุษย์ เพื่อให้ลูกหลานในภายภาคหน้าของเราได้ตระหนักว่า ไม่ว่าจะผิวสีอะไร นับถือศาสนาอะไร มีอัตตลักษณ์ทางเพศแบบใดเราก็สามรถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้กฏหมายที่ถูกออกแบบมาเผื่อประชาชนทุกคนให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความแตกต่างที่ไม่รู้สึกถูกทิ้งหรือหันหลังให้
เรามาร่วมเอาใจช่วยพ.ร.บ.นี้กันเถอะครับ ไม่นานดอกไม้หลากสีและเสรีภาพจะผลิบานไปทั่วในสังคมของเราอย่างแน่นอน
>> ศิลปะเพื่อมูฟเม้นของชาว LGBTQ+
เรื่องเพศเป็นแรงผลักดันของวงการศิลปะมาช้านาน ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากผลงานของศิลปินชื่อดังมากมาย โดยที่ในยุคนั้น คำว่า 'เลสเบี้ยน', 'เกย์', 'ไบเซ็กชวล' และ 'ทรานส์' นั้นไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเลยด้วยซ้ำ
ความเชื่อมโยงระหว่างศิลปะกับความหลากหลายทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายนั้น เราชวนคุณย้อนกลับไปจนถึงช่วง Early Greek Art มายุคเขียนภาพสไตล์อิตาเลียนโบราณที่มีวัฒนธรรมการรักเพศเดียวกันข้ามผ่านกาลเวลามาเรื่อย ๆ สู่ยุควิคตอเรียนก็มีภาพเปลือยที่เร่าร้อนที่หลีกเลี่ยงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หนักหน่วงที่เคยผ่านตาเรามากันบ้าง
เราจึงอยากพาทุกคนไปเปิดหูเปิดตารับชมมูฟเม้นทางศิลปะที่ขับเคลื่อนและสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ จากทั่วทุกมุมโลกว่าขับเคลื่อนกันยังไงและงานศิลปะมีหน้าที่มากน้อยแค่ไหนในการขับเคลื่อนสังคม
The Brass of Agnes Oxenbridge and Elizabeth Etchingham
ผลงานชื่อ The Brass of Agnes Oxenbridge and Elizabeth Etchingham ถูกสร้างในปี 1480 แต่ไม่ปรากฎนามศิลปิน ได้ติดตั้งอยู่ที่ Etchingham Parish เมือง Sussex เป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ใฝ่ฝันถึงการแสวงบุญของเลสเบี้ยน ผลงานทองเหลืองนี้เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงสตรีสองคนที่ถูกฝังไว้พร้อมกับจารึกขอความเมตตาจากพระเจ้าให้กับพวกเขาทั้งสองคน เอลิซาเบธอยู่ทางด้านซ้ายพร้อมกับผมยาวลงมา ซึ่งเธอตัวเล็กกว่าแอกเนสที่อยู่ทางด้านขวา แตกต่างจากผลงานทองเหลืองในสมัยนี้ ซึ่งมักแสดงให้เห็นคู่รักมองตรงไปข้างหน้า แต่รูป Agnes และ Elizabeth ในผลงานชิ้นนี้ ต่างเผชิญหน้ากันและมองตากัน
ไมเคิล เชาวนาศัย
ภาพศิลปะ ‘หลวงเจ๊’ ของ ไมเคิล เชาวนาศัย กับการกีดกัน LGBTQ ในศาสนา
ผลงานชื่อ ‘Portrait of Man in Habit’ โดย ไมเคิล เชาวนาศัย จากสหรัฐอเมริกา ที่นำเสนอรูปถ่าย ‘หลวงเจ๊’ ขนาดใหญ่ 152 x 102 เซนติเมตร เป็นรูปตัวไมเคิลเองห่มจีวรแบบพระภิกษุสงฆ์ทั่วไป อากัปกิริยาสำรวม ถือผ้าเช็ดหน้าสีชมพูลายการ์ตูน เขียนคิ้ว ติดขนตาปลอม บล็อกตาเข้ม ทาปากสี chocky pink ศิลปินต้องการตั้งประเด็นการกีดกันชายรักเพศเดียวกันบวชในพุทธศาสนาในไทย ที่ราวกับว่าคนรักเพศเดียวกันจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ คำถามที่ศิลปินตั้งไว้ในผลงานว่าทำไมกฎเหล็กพุทธไทยไม่ให้ตุ๊ดบวช ...ไมเคิลมีผลงานศิลปะมากมายเกี่ยวกับ ศาสนา เพศสภาพเพศวิถี และชายรักเพศเดียวกัน
Andy Warhol
ศิลปินป๊อปอาร์ตที่มีชื่อเสียงก้องโลก และผู้คนที่ไม่คุ้นเคยกับงานอาร์ตก็รู้จักผลงานของเค้ากับผลงานสีสันตัดกันอย่างสวยงาม ซึ่งนอกจากการสะท้อนบริโภคนิยม และงานโฆษณาที่มีต่อสังคมร่วมสมัยในยุคของเขาแล้วนั้น การแสดงออกของ Andy Warhol ในเรื่องเพศสภาพและสถานะทางเพศได้มีอิทธิพลต่อชีวิตส่วนตัวและการเส้นทางอาชีพการเป็นศิลปินของเขา ความเชื่อมโยงของ Warhol กับความรู้สึกทางเพศของเขา กลายเป็นตัวขับเคลื่อนแนวความคิดในการสร้างผลงานและการดำเนินชีวิตของเขาเป็นอย่างมากตลอดชีวิต ซึ่งเขาก็ได้แฮงค์เอ้าท์และสนิทสนมกับชุมชนนักสร้างสรรค์ชาวเกย์ในนิวยอร์คอีกด้วย
นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์
ศิลปิน นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ กับนิทรรศการแสดงเดี่ยว “Nature versus Nurture” ที่กำลังจัดแสดงอยู่ของเขา ณ SAC Gallery แสดงภาพการเจริญเติบโตตลอดช่วงชีวิตของดอกไม้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา สะท้อนล้อกันไปกับอดีตของศิลปินซึ่งต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ถูกจ้องจำอิสรภาพ และถูกแย่งชิงตัวตนไปโดยสังคม กลายเป็นกระจกสะท้อนหน้าตาของยุคสมัย ที่ซึ่งผู้คนเกิดมาพร้อมกับความไม่เท่าเทียมและมีชีวิตอย่างไร้เสรีภาพ
ศิลปินได้นำเอาเรื่องราวของดอกไม้ที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรมในสถานการณ์ต่างๆ นำมาอธิบายการสร้างตัวตนผ่านกระบวนการทางศิลปะ โดยแบ่งผลงานออกเป็น 3 ชุด แต่ละชุดเป็นการย้อนกลับไปยังแก่นสาระของการผลิตดอกไม้เพื่อการขาย ชวนให้เราเดินทางไปพร้อมกับดอกไม้และตั้งคำถามผ่านแต่ละกระบวนการ ซึ่งสะท้อนช่วงชีวิตที่ถูกควบคุมและจัดการ เช่นเดียวกันกับตัวตนและเพศสภาพภายใต้สังคมที่จำกัดเสรีภาพของเราทุกคนไว้ ทำให้เราต้องพยายามซ่อนหรือเปลี่ยนตัวตนให้เป็นที่ยอมรับ
Self-Portrait with Cropped Hair (1940)
By Frida Kahlo
ฟรีดา คาห์โล จิตรกรชาวเม็กซิกัน ได้วาดภาพตนเอง (self portrait) ไว้มากมาย และหนึ่งในนั้นคือภาพนี้ เธอวาดตนเองที่มีผมสั้น และสวมเสื้อผ้าผู้ชาย ด้านบนสุดของภาพมีเนื้อเพลงเม็กซิกันเขียนอยู่ว่า “จงดูเถิด ที่ฉันรักเธอก็เพราะผมของเธอ ตอนนี้เธอไม่มีผมแล้ว ฉันจึงไม่รักเธออีกต่อไป”
นักประวัติศาสตร์ศิลปะตีความว่า ภาพนี้เล่าถึงการยืนหยัดด้วยตนเองของฟรีดาหลังหย่ากับสามี รวมไปถึงการโอบรับความเป็นหญิงและชายในตนเองของเธอ เพราะตัวฟรีดาเป็นไบเซ็กชวลอย่างเปิดเผย เคยมีความสัมพันธ์กับทั้งผู้หญิงและผู้ชายหลายคน ในบางครั้งฟรีดาก็จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าผู้ชายอีกด้วย
ที่มา:
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
ภาพยนตร์ “Tropical Malady” หรือ “สัตว์ประหลาด” โดย ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระมือดี ‘เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ ติดอยู่ในอันดับ 6 ภาพยนตร์ LGBT ที่ดีที่สุดตลอดกาล 30 เรื่อง (The top 30 LGBT films of all time) จากการจัดอันดับเนื่องในงานครบรอบ 30 ปีเทศกาลภาพยนตร์เกย์และเลสเบี้ยน BFI Flare ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
สัตว์ประหลาด! หรือ Tropical Malady เป็นภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องที่สี่ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ออกฉายครั้งแรกในสายการประกวด ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ครั้งที่ 57 ประจำปี 2004 และได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในหมู่ผู้ชม และนักวิจารณ์ แต่ภาพยนตร์กลับได้รับรางวัล Prix du Jury (Jury Prize - ขวัญใจกรรมการ) ซึ่งมีเควนติน แทแรนติโนเป็นประธาน นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้เข้าประกวดในสายหลัก และได้รับรางวัลใหญ่
สัตว์ประหลาด! เป็นเรื่องราวเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักของเกย์สองคน คือ โต้ง (ศักดา แก้วบัวดี) ลูกจ้างโรงน้ำแข็ง กับ เก่ง พลทหารหนุ่ม (บัลลพ ล้อมน้อย) ส่วนหลังเป็นเรื่องราวที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง เป็นเรื่องลี้ลับเชิงนิทาน เกี่ยวกับการตามล่าในป่าทึบระหว่างนายพราน กับเสือสมิง ที่เคยกินคน และมีวิญญาณของเหยื่อที่ถูกกินสิงอยู่
นักรบ มูลมานัส
“Temporary Sculptures” โดย นักรบ มูลมานัส มาจากแนวความคิดที่ว่า ในประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์ประติมากรรมของมนุษยชาติ ในเบื้องแรกศิลปกรรมเหล่านั้นมักนำเสนอภาพลักษณ์ อันเป็นอุดมคติลักษณะของ “ชาย” และ “หญิง” ที่สังคมปรารถนา อย่างไรก็ตาม ในหลายวัฒนธรรมทั้งจากโลกตะวันออกและตะวันตก ก็มีปรัมปราคติของภาพอุดมคติที่รวมคุณลักษณะของ “ชาย” และ “หญิง” เข้าไว้ด้วยกัน
ศิลปินจึงได้เลือกสรรภาพของประติมากรรมในหลากหลายช่วงเวลาและจากหลากหลายภูมิภาคนำมาสลับสับเปลี่ยนร้อยเรียงกันใหม่ผ่าน Video Installation ให้กลายเป็นประติมากรรมอันแสดงภาพความหลากหลายไม่เจาะจงเพศ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และกาลเวลา ประติมากรรมเหล่านี้ปรากฏขึ้นเพียงชั่วครู่แต่เปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ไปไม่มีที่สิ้นสุด นำไปสู่ทั้งการสร้างนิยามใหม่และการตั้งตาม รวมถึงการเฉลิมฉลองให้กับความหลากหลายที่ดำรงอยู่และวิวัฒน์ไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
Yasumasa Morimura
ความหลงใหลของ YASUMASA MORIMURA ที่มีต่อภาพเหมือนตนเอง ชีวิตเกย์และคนข้ามเพศ ประวัติศาสตร์ศิลปะและวัฒนธรรมสมัยนิยม ทำให้งานของเขาสอดคล้องไปกับผลงานของ Andy Warhol อย่างใกล้ชิด Morimura มีชื่อเสียงจากการตอบโต้ภาพสัญลักษณ์ที่ดึงมาจากประวัติศาสตร์ศิลปะและสื่อสารมวลชน เขาสวมบทบาทตัวเองให้อยู่ในการเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ ในกระบวนการการสร้างงาน เขารวบรวมประเด็นเกี่ยวกับความคิดริเริ่มและการลอกเลียนแบบ เพศและเชื้อชาติ เพื่อสร้างสิ่งที่เขาเรียกว่า "ความโกลาหลที่สวยงาม" เฉกเช่นเดียวกับ Warhol และศิลปินหลายๆคนในปัจจุบัน Morimura สำรวจความลื่นไหลของเพศสภาพและสถานะทางเพศ รวมถึงความหมายของความแตกต่างที่มีอยู่ในโครงสร้างของสังคม
ที่มา:
SPONSA CHRISTI (BRIDES OF CHRIST)
ผลงานชื่อ SPONSA CHRISTI (BRIDES OF CHRIST) ไม่ปรากฎนามศิลปิน สร้างในปี 1280 ประเทศอังกฤษ ซึ่งสามารถดูได้ที่ห้องสมุด Princeton Library, คอลเลคชั่นพิเศษ ‘Taylor MS. 1, folio 44 recto’
ทั้งชายและหญิงได้เขียนเกี่ยวกับประสบการณ์มองเห็นถึงพระคริสต์อย่างรุ่มร้อนในยุคกลางตอนปลาย ภาพและการแสดงข้อมูลเช่นนี้ ได้เชิญชวนให้เราพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างเกย์และเลสเบี้ยน
‘โอ๊ต-มณเฑียร’
‘โอ๊ต-มณเฑียร’ ผู้ศรัทธาในพลังแห่งจักรวาล ชายหนุ่มที่เป็นทั้งศิลปิน นักวาดภาพ ครูสอนวาดภาพนู้ด และแกลเลอริสต์ Bodhisattava Lgbtq+ Gallery ซึ่งเน้นจัดแสดงผลงานศิลปินที่มีความหลากหลายทางเพศสภาพโดยเฉพาะจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“...เราว่ามันต้องเลือกว่าจะสู้อะไร เพราะมันสู้ทุกเรื่องไม่ได้ จะเหนื่อยเกินไป เรื่อง LGBTQ+ เหมือนจะใกล้ตัวที่สุดก็เอาประเด็นนี้ก่อน คือเมื่อเรามองเห็นความไม่เท่าเทียมในวงการศิลปะ ในพื้นที่สื่อ ในพื้นที่ภายนอก เราก็เริ่มจากในพื้นที่ของเรา บนกระดาษ บนผ้าใบของเราก่อน
...ประเด็นเรื่องเพศสภาพมันควรจะถูกพูดถึง ต่อยอด ไม่ใช่ปัดซุกไว้ใต้พรม มาคุยกันว่าความเป็นมนุษย์มันซับซ้อนนะ บริบทเพศสภาพมันทับซ้อนกับ ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ ศาสนา ฯลฯ ซึ่งมันทำให้คนบางคนใช้ชีวิตจะแฮปปี้สุดๆ ก็ได้ หรือตกนรกทั้งเป็นก็ได้ ดังนั้นอยากให้ส่งต่อแรงบันดาลใจ ถ้าคุณเป็นศิลปินที่เป็นเกย์ คุณควรสื่อสารเรื่องนี้ในงาน ถ้ามันมีอิทธิพลสำหรับคุณ ถ้ามันสำคัญสำหรับคุณ ไม่ต้องกลัวถ้าสังคมจะมองคุณอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าคุณมีเรื่องจะพูดก็พูดออกไปเลย...”
Commentaires