top of page
  • รูปภาพนักเขียน Zye

มีเงินแล้วมีที่ซื้อหรือยัง รวมแหล่งซื้องานศิลปะสำหรับมือใหม่ ห้ามพลาด!!

อัปเดตเมื่อ 31 พ.ค. 2566

Tank Highlight



จากสัปดาห์ที่แล้ว ที่เราได้คุยกันถึงเรื่องการเตรียมตัวเตรียมใจ สำหรับการลงทุนในงานศิลปะแล้ว สัปดาห์นี้เรามาหาคำตอบกันต่อว่า ถ้าเราจะลงทุนในงานศิลปะ เราควรจะลงทุนที่ไหน อย่างไร หรือว่าที่ไหนล่ะที่เราสามารถซื้องานศิลปะได้ วันนี้พวกเราชาวอาร์ตแท็งก์ มีคำแนะนำสำหรับมือใหม่ที่สนใจสะสมผลงานศิลปะ ถ้าพร้อมแล้วก็ตามมาดูกันเลย

1. ซื้องานศิลปะจากงานประมูลที่จัดขึ้นโดยหน่วยงาน หรือ Auction House ที่เชื่อถือได้ เราสามารถมองหา Auction house ที่จัดประมูลงานศิลปะ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ International Auction House ในหลายประเทศของโลก และ Local Auction House ในประเทศไทย ซึ่งข้อดีของ International Auction House คือ งานทั้งหมดจะถูกคัดเลือกจากมุมมองที่คาดว่าจะมีผู้ซื้อจากนานาชาติทั่วโลก ในขณะที่ Local Auction House จะมุ่งที่รสนิยมของตลาดหลักในประเทศไทยแม้จะมีทั้งงานจากศิลปินไทยและนานาชาติ สำหรับค่าธรรมเนียมของการประมูลนั้น ก็มีอัตราการคิดที่แตกต่างกัน โดยInternational Auction House นั้น จะแบ่งออกเป็นหลายระดับขึ้นกับราคาเคาะค้อนของชิ้นงานนั้นๆ ในอัตราระหว่าง 14.5% - 26% ของราคาเคาะค้อน ตัวอย่างเช่น ราคาชิ้นงานต่ำกว่า 1 ล้าน USD จะมีค่าธรรมเนียม 26% ของราคาเคาะค้อน ถ้าราคาชิ้นงานยิ่งสูง ค่าธรรมเนียมก็จะอยู่ในอัตราที่ลดลงเป็นต้น ในขณะที่ค่าธรรมเนียมของ Local Auction House ในปัจจุบันเป็นอัตราค่าธรรมเนียมคงที่ ที่ 15% นอกจากนี้การประมูลในปัจจุบันยังสามารถประมูลได้หลายช่องทาง คือสามารถมาประมูลด้วยตัวเอง ทางโทรศัพท์ การฝากราคาล่วงหน้า และผ่านทางออนไลน์ได้อีกด้วย ข้อดีของการซื้อผลงานผ่านการประมูล คือ ราคาที่ใช้ในการประมูลเป็นราคาที่เชื่อถือได้ มีการอ้างอิงชัดเจน เพราะมีการเปิดเผยสู่สาธารณะ ถ้าเราอยากเริ่มเก็บงานจากการประมูล อาจเริ่มประมูลตามกำลังของตนเองในราคาที่เราสู้ได้ หรือตั้งงบประมาณให้อยู่ในราคาประเมิน (Estimated price) เราก็จะได้งานที่เราชอบกลับบ้านไปเชยชมได้ทันที


2. ซื้องานศิลปะโดยตรงจากแกลเลอรี่ ผลงานศิลปะที่ซื้อจากแกลเลอรี่จะเป็น First Hand หรือผลงานที่เป็นการจำหน่ายจากศิลปินหรือแกลเลอรี่โดยตรง ไม่ผ่านมือใคร เราจะได้เป็นผู้ครอบครองผลงานชิ้นนี้ในราคาไม่แพง แต่สำหรับนักสะสมหน้าใหม่ การจะได้งานมาครอบครองอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากบางแกลเลอรี่จะมีการเปิดจำหน่ายผลงานจากนิทรรศการนั้น ๆ ให้กับลูกค้าเก่าหรือลูกค้า VIP ก่อน กว่าจะถึงเรา งานที่เราชอบก็อาจจะหมดไปแล้วก็เป็นได้






3. ซื้องานศิลปะจากการ Re-Selling หรือขายต่อของนักสะสมท่านอื่น ๆ ปัจจุบันการจำหน่ายแบบรีเซลอยู่แทบในทุกวงการ ผลงานศิลปะบางชิ้นถูกนำออกมาจำหน่ายต่อผ่านทางนักสะสมด้วยกันเอง หรือจากทางอาร์ตดีลเลอร์ การที่จะได้มาซึ่งผลงานที่เราต้องการ บางครั้งจึงต้องรอคอยโอกาสหรือช่วงเวลาที่นักสะสมที่ถือครองอยู่นำมาจำหน่าย แต่ข้อควรระวังคือ ต้องเช็คราคาอย่างระมัดระวัง ตรวจสอบความถูกต้องและความจริงแท้ของผลงาน ต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ แม้บางครั้งเรามั่นใจว่าได้งานมาจากแหล่งที่เราวางใจ แต่ผู้นั้นเองก็อาจไม่ทราบ หรือมิได้มีเจตนาขายงานไม่แท้ให้กับเรา จึงเป็นหน้าที่ผู้ซื้อเองด้วย ที่จะต้องศึกษาหาข้อมูล แหล่งที่มาให้มากที่สุดก่อนตัดสินใจซื้อ



4. ซื้อที่ตลาดงานมหกรรมศิลปะเชิงพาณิชย์ หรือ Art Fair งานแสดงงานประเภทนี้ต่างจากนิทรรศการศิลปะในแกลเลอรี่หรือเทศกาลศิลปะ เนื่องจากเป็นรูปแบบของนิทรรศการที่เกิดขึ้นเพื่อการขายโดยเฉพาะ มีการรวบรวมเอางานหลากหลายประเภทและหลากหลายราคา ซึ่งถูกคัดสรรโดยแกลเลอรี่และอาร์ต ดีลเลอร์ เพื่อนำเสนอผลงานและสร้างตัวตนของศิลปิน โดยจุดประสงค์หลักคือการซื้อขาย พบปะนักลงทุนและนักสะสมเป็นสำคัญ งาน Art fair มีการจัดขึ้นบ่อยครั้งในแต่ละปี และเพิ่มมากขึ้นในหลายๆ ประเทศ ได้แก่ Art Basel, The Affordable Art Fair , Frieze, The European Fine Art Fair และ FIAC เป็นต้น ในภูมิภาคเอเชียมีงาน Art Fair ที่จัดเป็นประจำให้เราได้ไปเลือกซื้อหาผลงาน ได้แก่ Art Basel Hong Kong หรือ ในประเทศอื่นๆ ที่เริ่มต้นจัดงาน เช่น ART JAKARTA, ART SG หรือแม้แต่ในประเทศไทยก็มี Hotel Art Fair สามารถเช็คจากปฏิทินการจัดงานต่างๆ แล้วลองไปหาซื้องานกันได้เลย



5. ซื้อผ่านทางอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันช่องทางจำหน่ายงานศิลปะไม่ได้มีอยู่แค่รูปแบบการเดินเข้าไปหาซื้ออีกต่อไป แต่เราสามารถเลือกซื้อหาผลงานได้จากอินเทอร์เน็ต ทั้งรูปแบบที่ศิลปินฝากในเว็บไซต์ของแกลเลอรี่เอง หรือเว็บไซต์ที่มีภัณฑารักษ์หรือ Curator เป็นผู้เลือกผลงานของศิลปินเข้ามาจำหน่าย ที่เป็นที่รู้จักในต่างประเทศก็ได้แก่ Amazon art section, Artfinder, Etsy และ Saatchi Art เป็นต้น หรือจะเป็นการจำหน่ายจากศิลปินโดยตรงผ่านทางเว็บไซต์หลักของศิลปินเอง หรือช่องทาง online อื่น ๆ เช่น Line หรือ Instagram ซึ่งมักจะกำหนดราคาและจำนวนเอาไว้อย่างชัดเจน ผู้ซื้อก็สามารถเลือกซื้อง่าย ๆ ขอแค่กดจองและจ่ายเงินให้ทันเท่านั้นเอง แต่ข้อควรระวังของการซื้อผลงานจากทางอินเทอร์เน็ตคือ เราจะไม่ได้เห็นผลงานก่อนซื้อ ต้องระวังเรื่องการขนส่ง และความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์หรือบุคคลที่เราติดต่อซื้อขายด้วย นอกจากนั้นการได้เห็นผลงานจริงก่อนตัดสินใจซื้อก็สำคัญมากเช่นกัน เพราะงานศิลปะแต่ละชิ้นจะสื่อสารกับเราได้ด้วย ขนาด ระยะ และการมองเห็น ดังนั้นการที่เรามองผ่านจอคอมพิวเตอร์ จะจำกัดการรับรู้ และอาจมีความคลาดเคลื่อนเรื่อง สี ขนาด ระยะการมองที่ปะทะความรู้สึกของผู้ดู เป็นไงกันบ้างสายอาร์ต ถ้าอยากที่จะเริ่มเก็บสะสมผลงานศิลปะ ก็สามารถไปหาซื้อกันได้ตามสถานที่เบื้องต้นที่เราได้แนะนำ หากพร้อมแล้วสำหรับการลงทุนในงานศิลปะ ก็เตรียมไปช็อปกันได้เลย!! . . __________ สามารถติดตามคอนเทนต์ของเราเพิ่มเติม ได้ที่ : https://arttank.media/ หรือ ส่งข้อมูลข่าวสารให้เราประชาสัมพันธ์ได้ที่ media@arttankgroup.co.th . Follow us here for more contents: https://arttank.media/ Send us your Art news for PR here: media@arttankgroup.co.th

Comments


bottom of page