top of page
  • Lim

เกาะกระแส Art Toy นอก ชิลสะสม เอนจอย buy/sell/talk


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้พูดถึงอาร์ตทอยของไทยกันไป คราวนี้ไปตะลุยกับอาร์ตทอยนอกเมืองไทยบ้านเฮากันบ้างดีกว่า เลยขอเท้าความเกี่ยวกับ Art Toy ต่างประเทศและเกร็ดความรู้กันสักเล็กน้อย ... อาร์ตทอย (Art Toy) หรือ ดีไซน์ทอย (Design Toy/ Designer Toy) ฝั่งเอเชียจะนิยมเรียกว่า “อาร์ตทอย” ฝั่งตะวันตกจะนิยมเรียกว่า “ดีไซน์เนอร์ทอย” แต่นิยามทั้งสองนั้นมีความหมายคล้ายคลึงกันคือ “ของเล่นที่ศิลปินเป็นผู้ออกแบบและผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดเพื่อจำหน่ายหรือส่งมอบให้กับผู้อื่น” แต่ต่างจากของเล่นของสะสมทั่วๆ ไปที่เราเห็นตามร้านของเล่นตรงที่มีการผลิตจํานวนจํากัด และมักจะไม่จะผลิตขึ้นมาใหม่ และมองได้ว่าเป็นงานศิลปะอีกแบบหนึ่งที่นิยมสะสมในระยะยาว


อาร์ตทอย นั้นได้ถือกําเนิดในช่วง ค.ศ.1990 โดย กลุ่มศิลปินชาวอาร์ตทอย ที่ชื่นชอบของเล่นได้รวมตัวกันเอง และจัดแสดงโชว์ผลงานขึ้นในรูปแบบของงานนิทรรศการเล็กๆ และหลังจากนั้นก็เริ่มมีการเติบโตและขยายอิทธิพลมาจนถึงประเทศไทย อาร์ตทอยนั้นแตกต่างจากของเล่นหรือของสะสมอื่นๆ หัวใจหลักของอาร์ตทอยก็คือ คำว่า ‘ออกแบบโดยศิลปิน’ ‘จำนวนจำกัด’ ‘ย้อมสีใหม่/ลายใหม่บนตัวเดิม’ และ ’ราคาสูงกว่าของเล่นทั่วไป’ นั่นเอง ส่วนสไตล์และวิธีในการออกแบบนั้นคงอยู่ที่ตัวศิลปินเองว่าจะเลือกแนวทางไหน


‘การออกแบบ’ คือ จุดเด่นของอาร์ตทอยซึ่งจะเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจและแนวคิดของศิลปินโดยแท้ อาร์ตทอยจึง ‘ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อเรื่องมารองรับ’ เหมือนกับพวกของเล่นประเภทอื่นๆ ที่อาจจะสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยนำเอาคาแรคเตอร์จากการ์ตูนชื่อดังมาเปลี่ยนให้เป็นของเล่น เรียกได้ว่า “เน้นขายที่ดีไซน์” จะเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน ไม่จำเป็นต้องบอก แต่ถ้าศิลปินอยากบอก ก็ไม่ได้ผิดกฎอะไร


ทีนี้มาลองฟังคอลเลคเตอร์ที่ผ่านการสะสมงานศิลปะมามากมายหลายประเภทอย่าง อ.ภาคภูมิ เต็งอำนวย ถึงประสบการณ์การเก็บสะสมอาร์ตทอยต่างประเทศกันบ้างดีกว่า “... อาร์ตทอยต่างประเทศแม้เป็นของศิลปินดัง เราอาจไปแย่งซื้อได้ทัน มันมีบริษัทดังๆที่เค้าผลิต Art Toy พวกนี้อยู่ อย่างเช่น APPortfolio เป็นต้น ถ้าเราซื้อเค้าบ่อยๆเค้าก็จะจำเราได้ ก็ให้พวก VIP ได้สิทธิ์จองก่อน ก่อนที่เค้าจะ regular launch คือ ก็จะมาบอกก่อนเป็นการภายใน ระบบการซื้อ Art Toy ในต่างประเทศกับในไทยก็เริ่มจะคล้ายๆกันเข้าไปทุกทีแล้ว ก็จะประกาศออกมาให้คนเข้าไปจองซื้อทางเว็บ ซึ่งกดทันบ้างไม่ทันบ้าง ก็แล้วแต่ดวง ... ส่วนเรื่องเลข edition ถ้าเป็นฝรั่งเค้าจะไม่ค่อยแคร์เรื่องเลขกันเท่าไหร่ แต่คนไทยคนเอเชียจะชอบมาเล่นเรื่องเลขกัน เลขตัวเดียวหรือเลขแปดเลขเก้า เลขเบิ้ล เลขเรียง และราคาก็จะไม่เท่ากัน แล้วแต่ว่าเลขสวย เวลามาขายต่อกันในตลาดมือสองก็จะแพงกว่า แต่ฝรั่งจะไม่แคร์เรื่องนี้ จะแคร์เรื่องสภาพมากกว่า จะต้องไม่มีตำหนิ ชำรุดหรือรอยบิ่น


… ตอนนี้ผมลองเปลี่ยนแนวการสะสมมาเป็นงานนอกดูบ้าง จริงๆแล้วคุณภาพและวัสดุก็ไม่ได้ต่างไปจากของศิลปินไทยเลย แถมราคาแพงกว่าเยอะด้วย แต่หลังจากเก็บสะสมงานมาอย่างสะบักสะบอม อย่างน้อยก็เห็นแล้วว่าการเก็บอาร์ตนอกของศิลปินดัง มีคนรู้จักกันทั่วโลก จะได้เปรียบเวลาขายออก ถ้าขายในเมืองไทยไม่ได้ก็ยังส่งประมูลลุ้นเอาก็ยังดี ... อาร์ตนอกเวลามาปล่อยกันในเมืองไทย ก็ไม่ใช่ว่าจะขายกันได้ง่ายๆ ถึงแม้งานของศิลปินบางคนจะเป็นที่รู้จักทั่วโลก บางทีเค้าไม่นิยมกัน แต่ถ้าเป็นงานของ Alex Face หรือศิลปินไทยที่โกอินเตอร์ ก็จะเล่นกันมาก อย่าง Muebon , Alex Face หรือ Gongkan


อาร์ตทอยต่างประเทศที่ชอบมากเป็นพิเศษ ตอนนี้ก็มีของ เจมส์ จีน ซูจุร่า และยูซุเกะ อาไน พวกนี้เค้าจะคอลแลปส์กับโปรดิวเซอร์ที่มีชื่อเสียงอย่างเช่น DGGstore ที่ฮ่องกง หรือ APPortfolio หรือ Avant Arte หรือ Mighty Jaxx ก็ทำของเล่นเยอะ และก็มี Pop Mart หรือ Global ก็เป็นบริษัทใหญ่ที่ทำกึ่งอาร์ตทอย ส่วนงานที่เป็นกระแสมาแรงตอนนี้ คิดว่าน่าเป็น James Jean และอีกคนคือ Hebru Brantley ศิลปินผิวสีชาวอเมริกัน เค้าจะมี sculpture ที่ทำจากโลหะซึ่งถือว่าเป็นไฟน์อาร์ต แต่เค้าก็จะออก Sculpture ที่ทำจาก polystone หรือ เรซิ่น อีกด้วย ซึ่งจะเป็นอาร์ตทอยและราคาจะย่อมเยาว์กว่า แต่ถึงเค้าออกมาขนาดนี้ ก็จองกันไม่ทัน ผมก็ไม่เคยจองทัน ต้องไปซื้อในตลาดมือสอง ส่วน Art Toy ต่างประเทศที่แม้อยู่มานานแล้ว ก็ยังน่าสนใจน่าสะสม ที่เห็นเค้าเล่นกันก็มี Labubu หรือ Shimomo


สิ่งที่ต้องระวังในการสะสมอาร์ตทอยต่างประเทศ และจะเจอปัญหาบ่อยที่สุด คือ ชำรุดระหว่างการขนส่ง โดยเฉพาะอาร์ตทอยที่ทำจาก polystone มันอาจจะดูดีกว่าไวนิลที่เป็นพลาสติก แต่มันเปราะ คล้ายๆ แก้ว เวลาโดนกระแทกจากการโยนไปมาระหว่างขนส่ง ดูจากกล่องภายนอกไม่บุบสลาย แต่พอแกะกล่องออกมา จะพบว่าหัก ซึ่งเจอแบบนี้บ่อยมากกับวัสดุ polystone และเรซิ่น โอกาสเสี่ยงสูงถึงห้าเปอร์เซนต์ที่เจอมา ต้องส่งคืน ขอเปลี่ยน เสียเวลามาก อันนี้ก็เป็นข้อควรระวัง ... เราก็อาจจะซื้อมือสองต่อจากนักสะสมในเมืองไทย หรือซื้อผ่านแกลเลอรีที่เป็นตัวแทนจำหน่ายหรือได้โควต้าส่วนหนึ่งมาจากแบรนด์ดังๆในต่างประเทศ เช่น Avant Arte เป็นต้น แล้วเค้าก็มาจำหน่ายต่อ ซึ่งถ้าตัวไหนมีตำหนิ เราไปเคลมจากที่เมืองไทยได้ง่ายกว่า ถึงแม้ว่าจะใช้เวลานานเป็นเดือน แต่ถ้าเราสั่งตรงจากเมืองนอกเลย เราก็ต้องวิ่งเต้นเรื่องเคลมเองทุกอย่าง ...”


เพลินกับเกร็ดความรู้มาพอสมควรแล้ว ลองไปดูผลงานอาร์ตทอยของศิลปินต่างประเทศที่มีผลงานปังๆ ครองใจนักสะสมทั่วโลกกันบ้างดีกว่า

เจ้าหมี BE@RBRICK (แบร์บริค)โดยลักษณะพิเศษของของเล่นชิ้นนี้ คือหัวที่มีลักษณะเป็นหมีแต่ตัวมีลักษณะคล้ายตัวต่อของเล่นเลโก้ และมีการวาดลวดลายตามคาแรคเตอร์ที่กําลังเป็นที่สนใจในสังคม ทําให้เจ้าหมีแบร์บริคมีเสน่ห์ต่อคนที่ชื่นชอบในการสะสม และนอกจากจะมีขนาดเล็กแล้วยังมีชิ้นใหญ่ให้เลือกด้วย อย่างในภาพก็จะเป็นลายที่สื่อถึงอัลบั้ม Random Access Memories ของวง Daft Punk ศิลปินดูโอชื่อดังกับแนวเพลง Electronic จากฝรั่งเศส


Tristan Eaton ศิลปินจิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรสตรีทอาร์ต นักวาดภาพประกอบ และนักออกแบบของเล่น เขาเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีจากภาพจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ที่มีการคอลลาจรูปภาพแนวป็อปต่างๆผสมผสานกับสไตล์ส่วนตัวอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา ซึ่งพ่นสีสเปรย์ด้วยมือเปล่าในขนาดใหญ่มหึมา เขาออกแบบของเล่นชิ้นแรกของเขาให้กับ Fisher-Price ตอนอายุ 18 ปี และกลายเป็นแรงผลักดันให้เข้าสู่โลกของอาร์ตทอย


ผลงานของ Tristan ที่ทำกับแบรนด์ Kidrobot ก็มีอาร์ตทอย Dunny และ Munny อันโด่งดัง ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงระดับนานาชาติและมีฐานแฟนๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตุ๊กตา Dunny ส่วนใหญ่มีราคาประมาณ 100 ดอลลาร์ หลังจากการเปิดตัว New Money Metal Dunny ครบรอบ 15 ปี Tristan ได้สร้างเวอร์ชั่นที่สองขึ้น โดยนำเสนอฟิกเกอร์ในวัสดุโลหะสีโรสโกลด์และตกแต่งในสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของเขา ซึ่งผลงานในภาพก็เป็นคาแรกเตอร์ Dunny ที่นำมาใส่ลวดลายเพ้นติ้งของจิตรกรหญิงระดับโลกอย่าง Frida Kahlo นั่นเอง


Futura 2000 ตำนานที่ยังมีชีวิตของแวดวงกราฟฟิตี้ เขาช่วยกรุยทางศิลปะแขนงนี้ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ให้ขยายออกจากเพียงการวาดตัวอักษรและไปสู่การปาดป้ายสีแบบนามธรรมมากขึ้น ไม่นานมานี้ Futura ได้คอลแลปส์กับแบรนด์ขนาดใหญ่หลากหลายแบรนด์ เพื่อผลิตอาร์ตทอย รองเท้าผ้าใบ และสื่อสร้างสรรค์ที่หลากหลาย นอกจากคาแรกเตอร์ Pointman อันเป็นที่รู้จักของเขาแล้ว เขายังได้สร้างคาแรกเตอร์ Nosferatu ที่ดูล้ำยุค ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในซีรีส์อาร์ตทอยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของเขา ผลงาน Nosferatu ส่วนใหญ่ของเขาสามารถหาซื้อได้ในราคาไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์


ผลงาน Slingshot ที่เป็นรูปเด็กยิงหนังสติ๊กของ James Jean ชิ้นนี้ได้คอลแลปส์กับแบรนด์สตูดิโอดังอย่าง Avant Arte แรงบันดาลใจเบื้องหลังงานชิ้นนี้มาจากภาพยนตร์เรื่อง Un Chien Andalou โดยผู้กำกับชาวสเปน Luis Buñuel และศิลปิน Salvador Dalí นอกเหนือจากเรื่องราวในพระคัมภีร์ของ David และ Goliath


James Jean ศิลปินชาวไต้หวัน-อเมริกัน ที่ผสมผสานศิลปะร่วมสมัยเข้ากับเทคนิคและสุนทรียะที่ได้รับแรงบันดาลใจจากประเพณีโบราณ


Brian Donnelly เขาคือศิลปินและนักออกแบบระดับตำนาน รู้จักกันดีจากผลงาน vinyl toys อันเป็นสุดยอดในหมู่นักสะสม รวมไปถึงงานประติมากรรมขนาดยักษ์ที่ถูกนำไปจัดแสดงในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก โดยผลงานอารต์ทอยเด่นๆ ของเขาก็คือ Kaws ( คอวส์ ) ตัวหัวกระโหลกที่มีลูกตาเป็นกากบาทกับแต่งชุดคล้ายมิกกี้เม้าส์ ปัจจุบันเราจะเห็นว่าคอวส์นั้นมีหลายเวอร์ชั่นที่เอาตัวการ์ตูนดังๆ มารวมกับตัวคาแรคเตอร์คอวส์มาในรูปแบบของเล่นและเสื้อผ้าอีกด้วย


Ron English ศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อดังชาวอเมริกัน นอกจากผลงานจิตรกรรมที่สร้างชื่อให้เขาแล้วนั้น เขาเป็นเจ้าของแบรนด์ Popaganda กับคาแรคเตอร์อาร์ตทอยที่มีจุดเด่นอย่างตัวอีโมจิรูปยิ้มที่เห็นฟัน ผสมผสานกับการยํารวมมิตรตัวการ์ตูนให้ดูมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น


หลังจากได้รับการติดต่อจาก Sony Corporation ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ให้ออกแบบหุ่นยนต์ออร์แกนิก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสุนัขไอโบที่มีชื่อเสียง ศิลปิน Hajime Sorayama เริ่มวาดภาพชุดของหุ่นยนต์ผู้หญิงที่รูปร่างถูกต้องตามหลักกายวิภาคของสตรี โดยตั้งชื่อไว้ว่า Sexy Robot เพื่อใช้อธิบายพวกมัน จากนั้น Sorayama ผลิตตุ๊กตาอาร์ตทอยนี้ในจำนวนจำกัดเพียง 100 ชิ้นทั่วโลก โดยแต่ละชิ้นมีใบรับประกันพร้อมลายเซ็นจาก Sorayama เอง


ที่มา: http://sorayama.jp/

Jason Freeny กับผลงาน The Squatting Balloon Dog ในซีรี่ส์ชื่อว่า XXRAY ที่มีรูปร่างเหมือนกับผลงานประติมากรรมลูกโป่งสุนัขของศิลปิน Jeff Koons แต่ครึ่งหนึ่งของร่างกายถูกฉายเอ็กซ์เรย์ให้เห็นโครงกระดูกด้านใน ผลงานนี้ได้เปิดตัวในงาน Outside In: An Unconventional World of Art Toys ที่ฮ่องกงตอนปี 2020




ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

תגובות


bottom of page