top of page
  • รูปภาพนักเขียนKaew

แดงจีน นี่แดงไหน?

อัปเดตเมื่อ 31 พ.ค. 2566

Highlight

สำหรับคุณแล้ว สีแดงหมายถึงอะไร? ไม่ว่าจะในศิลปะ แฟชั่น เครื่องประดับอัญมณี ทุกสิ่งใต้เงาของพระอาทิตย์ล้วนแต่มีสีแดงเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญ นอกจากสีขาวและดำ สีแดงก็เป็นสีแรก ๆ ที่มนุษย์นั้นมองเห็นตั้งแต่เกิด กล่าวได้ว่ามนุษย์นั้นมีความรู้สึกทางสัญญะอย่างแรงกล้าต่อสี ๆ นี้อีกด้วย เพื่อที่จะสามารถเข้าใจถึงอิทธิพลของสี ๆ นี้ที่มีต่อมนุษย์เรา Art Tank Media จะพาทุกท่านเดินทางข้ามเวลาไปหาความหมายของสีแดง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


“สีแดงนั้นคือสีแม่แบบของมนุษย์ คือสีแรกที่มนุษย์คิดค้น ใช้งาน ผลิต เผยแพร่ และแตกขยายจนเป็นเฉดสีต่างๆมากมาย” Micheal Pastoureau ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Red: The History of a Color

ประวัติศาสตร์นั้นกล่าวว่ามนุษย์พวกแรกนั้นมาจากทวีปแอฟริกา ซึ่งในทางตอนใต้ของทวีปนั้นได้ค้นพบถึงการบดดินเหลือง ดินที่เกิดสีจากการเกิดปฏิกริยาออกไซด์ของเหล็กเช่นเดียวกับสนิม รวมถึงการใช้รากของต้นแมดเดอร์มาทำเป็นสีแดงที่แพร่หลายทั่วยุโรป แอฟริกา และเอเชีย หรือแม้แต่การนำแมลง Kermes มาตากแห้งและบดจนได้สีย้อมแดงเป็นต้น การค้นพบเหล่านี้เป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของการใช้สีแดงในสังคมมนุษย์ สามารถพบได้ในถ้ำ Altamira ในทางตอนเหนือของสเปน เช่นภาพเขียนวัวไบซันเป็นต้น



สำหรับจีนสมัยโบราณ ศิลปินได้ใช้สีแดงในการสร้างเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่ยุคสมัยวัฒนธรรมหย่างเฉา (5000-3000 ปีก่อนคริสตกาล) เช่นเดียวกับชาวอียิปต์ ชาวจีนก็ใช้สีแดงที่ทำมาจากต้นแมดเดอร์เพื่อย้อมผ้าและเครื่องเขินอีกด้วย สำหรับชาวอินเดียจะมีพืชที่เรียกว่าต้น Rubia ซึ่งจะใช้ในการย้อมสีจีวรพระและนักบวช ชาวพื้นเมืองอเมริกันยุคแรก ๆ ก็ใช้แมลงโคชินีลมาบดเบา ๆ บนกระดานไม้ จากนั้นจึงนำไปตากแห้งเพื่อให้ได้ผงสีแดงสดเช่นเดียวกัน

ประเทศจีนนั้นให้ความสำคัญกับสีแดงเป็นอย่างมาก ชาดและ Red ochre นั้นได้ถูกใช้ในหลุมฝังศพโบราณ อาจแสดงถึงการช่วยเหลือผู้วายชนม์ให้ไปสู่ความเป็นอมตะ ในเวลาต่อมาสีแดงกลายเป็นสัญลักษณ์ในความเฮงและความสุข ชาวจีนให้ความหมายเชื่อมโยงกับไฟ ดวงอาทิตย์ หัวใจ และพลังงานบวกทั้งหมด ต่อมาก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ การเฉลิมฉลอง ความอุดมสมบูรณ์ และการปัดเป่าความชั่วร้าย ซึ่งจะถูกเลือกเป็นสีชุดของชนชั้นสูง ชุดแต่งงาน ผ้าห่อทารก อั่งเปา และกำแพงรอบพระราชวังต้องห้ามเพื่อปกป้องผู้ที่อยู่ด้านใน ในวันตรุษจีนผู้คนจะประดับประดาโคมไฟสีแดง หรือแม้แต่ธงชาติก็ยังเป็นสีแดง

.

ในโลกสากลนั้นรับรู้ถึง “สีแดงแบบจีน” มาเป็นเวลานาน เป็นสีที่ให้กล่าวถึงเวลาซื้อบ้านหรือแม้แต่การเลือกสีทาเล็บ แต่สีแดงแบบจีนนั้นหมายถึงอะไร ?

สีแดงแบบจีน (Chinese Red) นั้นเป็นสีแดงสดออกส้มเล็กน้อยหรือเรียกในแบบหนึ่งว่าสีแดงชาด โดยดั้งเดิมทำมาจากแร่ชาด ภายหลังมามีการเลียนแบบสีสังเคราะห์ตามมา สีแดงชาดนั้นมีตั้งแต่โทนออกส้มแดงจนถึงแดงตุ่น ในจีนบางครั้งจะถูกเรียกว่าแดงใหญ่ ซึ่งหมายถึงสีแดงชาดสด ซึ่งอาจหมายความรวมถึงระยะของแสงสีแดงในสเปกตรัมแสงที่สีแดงนั้นจะมีคลื่นที่ยาวที่สุด

.

หากจะถามชาวจีนว่าสีแดงนั้นหมายถึงอะไร ก็อาจจะตอบได้ยากเพราะมันได้ถูกใช้ในทุกอณูของชีวิตไปแล้วตั้งแต่ยุคโบราณ ในด้านของประเพณีวัฒนธรรมก็ถูกใช้ในการแต่งงาน เจ้าสาวจะใส่ชุดสีแดง หรือแม้แต่อั่งเปาก็มีสีแดงตั้งแต่ตัวกระดาษจนถึงธนบัตรข้างใน สีแดงมีความหมายถึงความรัก สุขภาพ และโชค ชาวจีนได้ค้นพบการใช้ “ชาด” ในการทำ “สีแดงแบบจีน” อีกด้วย

.

นอกจากนี้สีแดงยังสามารถใช้เป็นสีที่แบ่งแยกระหว่างคนรวยหรือจนได้ด้วย จากคุณภาพของสีผ้านั่นเอง ในการย้อมสีของคนทั่วไปจะใช้สีย้อมที่บดมาจากต้นแมดเดอร์ซึ่งจะออกมาเป็นสีแดงคล้ายอิฐ และจะค่อย ๆ จางลงตามกาลเวลา กลับกันในหมู่ชนขั้นสูงจะสวมอาภรณ์สีแดงสดที่ย้อมจากสีแดงที่บดมาจากแมลง Kermes ที่มีราคาสูงกว่า ซึ่งจะอยู่ได้นานกว่าและมีสีที่สดกว่า

ในประวัติศาสตร์ของวงการแฟชั่นนั้น เหล่านักออกแบบต่างมีแนวคิดเกี่ยวกับสีแดงที่แตกต่างกันออกไป ดังเช่น Christian Louboutin ที่จะใช้สีแดงในงานของเขา ในปี 1992 เขาได้ออกผลงานรองเท้าพื้นแดงที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ของเขาอย่างรวดเร็ว ซึ่งแสดงถึงความหรูหราอลังการ และเป็น “สีแดงแบบจีน” ที่เรารู้จักกันอย่างดีอีกด้วย

.

วันตรุษจีนปีนี้มาใส่ แดง กันเถอะ แต่จะเป็นแดงไหน เลือกเอาได้ตามใจชอบเลยนะ และถ้าชอบคอนเทนต์นี้ก็อย่าลืมกดไลค์กดแชร์และกดติดตามเพจ Art Tank Media ของเราด้วย!!

. อ้างอิง https://asia.si.edu/red/ https://www.artsy.net/article/artsy-editorial-history-red https://www.chinadaily.com.cn/.../WS60f8cabca310efa1bd663... https://www.zenartsupplies.co/.../colour-red-meaning-how... ———————- . สามารถติดตามคอนเทนต์ของเราเพิ่มเติม ได้ที่ : https://arttank.media/ หรือ ส่งข้อมูลข่าวสารให้เราประชาสัมพันธ์ได้ที่ media@arttankgroup.co.th . Follow us here for more contents: https://arttank.media/ Send us your Art news for PR here: media@arttankgroup.co.th


bottom of page