top of page
รูปภาพนักเขียนPetch

เดินเที่ยวแบบคนมีเทส ตะลุย 5 พิพิธภัณฑ์ศิลปะทั่วกรุง ไม่เคยไปถือว่าพลาด!!



วันนี้เราจะพาทุกคนไปดู 5 พิพิธภัณฑ์ศิลปะทั่วกรุงเทพ ที่บอกได้เลยว่าต้องไปให้ได้สักครั้ง โดยทุกที่ที่เราแนะก็มีทั้งผลงานศิลปะสวยๆ และมุมถ่ายรูปอีกเพียบ ทั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, บ้านพิพิธภัณฑ์ คุณาวงศ์, หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งแต่ละที่จะน่าสนใจอย่างไร ตามมารับชมกันได้เลย!!



1. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป



เริ่มจากที่แรกกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ณ ถนนเจ้าฟ้า เขตพระนคร เป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงผลงานศิลปกรรมของศิลปินผู้ที่มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปกรรมทั้งแบบไทยประเพณีและร่วมสมัย 


จุดเด่นของอาคารนี้คือ สถาปนิกออกแบบอาคารทั้งหมดให้มีความเชื่อมโยงต่อกันเป็นกลุ่มอาคารรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ล้อมรอบลานโล่งตรงกลาง ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากแบบแปลนโรงงานเครื่องจักรเมืองเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ และจุดเด่นอยู่ที่มุขกลางด้านหน้าของอาคารที่มีหลังคาทรงจั่วแบบวิหารกรีก ผนังหน้าจั่วประดับตราแผ่นรูปดินปูนปั้น ล้อมรอบด้วยครึ่งวงกลมประกอบลายพันธ์พฤกษา ผนังอาคารชั้นบน แบ่งเป็น 3  ส่วน แต่ละส่วนเจาะช่องหน้าต่างเป็นโครงสร้างโค้งครึ่งวงกลม แต่ไม่ประดับซุ้ม ผนังฉาบปูนเดินร่องลึกเป็นรูปช่องสี่เหลี่ยมใหญ่เรียงกันเลียนแบบลายหินก่อ มุมอาคารมีการเน้นลายหินอ่อนให้นูนเป็นเสาอิงที่ไม่มีหัวเสา สามารถติดตามกิจกรรมต่างๆได้ทางช่องทาง : https://www.facebook.com/TheNationalGalleryThailand

.

เปิดทำการเวลา 9.00 - 16.00 ทุกวันวันพุธ - วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร)

การเดินทาง : 

รถโดยสารประจำทาง

รถประจำทางจากฝั่งธนบุรี ข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า 30, 80, 91

รถประจำทางจากถนนพระอาทิตย์ สาย 6, 9, 15, 19, 32, 33, 53, 64, 65, 524

รถประจำทางจากถนนจักรพงษ์ สาย 3, 30, 32, 33, 43, 64, 524


เรือโดยสาร

เรือด่วนเจ้าพระยา : ท่าพระอาทิตย์ (N.13) เดินย้อนกลับมาทางสะพานปิ่นเกล้า จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนน เจ้าฟ้า เดินต่อไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

เรือข้ามฟาก : ท่าเรือปิ่นเกล้า (ฝั่งพระนคร) เดินย้อนกลับมาทางสะพานปิ่นเกล้า ตรงเข้าถนนเจ้าฟ้า เดินต่อไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป


รถไฟฟ้า BTS

ลงสถานีสะพานตากสิน S6 (สายสีลม) ใช้ทางออกที่ 2 และใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยาที่ท่าสาทร (Central Pier) ไปยังท่าสถานีรถไฟ แล้วใช้บริการเรือข้ามฟากไปยังท่าพระอาทิตย์ (N.13) เดินย้อนกลับมาทางสะพานปิ่นเกล้า จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเจ้าฟ้า เดินต่อไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป



2. BACC หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร



ไม่พูดถึงที่นี่ก็ไม่ได้กับ BACC หรือ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เรียกได้ว่าคนกรุงเทพส่วนมากต้องเคยมาที่นี่ กับอาคารสูง 9 ชั้นใจกลางเมือง พร้อมกับรูปลักษณ์ที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมและพร้อมด้วยอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ในการบริหารจัดการงานศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณภาพระดับมาตรฐานสากล

 

การจัดแสดงนิทรรศการภายใน BACC จะเน้นไปที่การจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนตามผลงานของศิลปินแขนงต่างๆ ทั้งศิลปินไทยและศิลปินนานาชาติ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมด้านศิลปะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กวี ละคร ภาพยนตร์ เสวนา และวรรณกรรม สามารถติดตามกิจกรรมต่างๆได้ทางช่องทาง : https://www.facebook.com/baccpage

.

เปิดทำการเวลา 10.00 - 20.00 ทุกวันวันอังคาร - วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์)

การเดินทาง :

รถประจำทาง

สาย 15, 16, 21, 25, 29, 34, 36, 40, 47, 48, 50, 54, 73, 73ก, 79, 93, 141, 159, 204, ปอ.501, ปอ.508 และ ปอ.529


เรือ

เรือสายในคลองแสนแสบ เส้นทางสะพานผ่านฟ้า-ประตูน้ำ ขึ้นที่ท่าเรือสะพานหัวช้าง เดินเลียบถนนพญาไทประมาณ 300 เมตร ถึงหอศิลปฯ (ก่อนถึงสี่แยกปทุมวัน)


รถไฟฟ้าบีทีเอส

ลงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ทางออกที่ 3 เดินตรงไปด้านซ้ายมือเป็นทางเชื่อมเข้าสู่หอศิลปฯ บนชั้น 3 ของหอศิลปฯ


รถยนต์

เดินทางได้ 2 เส้นทาง คือ

  • เส้นทางถนนพญาไท (จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) ข้ามสะพานหัวช้าง ชิดขวาเข้า ทางเข้าหอศิลปฯ (ด้านหลังอาคาร ก่อนถึงสี่แยกปทุมวัน)

  • เส้นทางถนนพระราม 1 (จากสนามกีฬาแห่งชาติ) เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพญาไท และเลี้ยวซ้าย เข้าทางเข้าหอศิลปฯ

หอศิลปฯ มีทางเข้าสำหรับรถยนต์ด้านเดียว คือ ถนนพญาไท มีที่จอดรถให้บริการชั้นใต้ดิน



3. บ้านพิพิธภัณฑ์ คุณาวงศ์




พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ใจกลางเมืองย่านลาดพร้าว ที่เพิ่งเปิดไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจ และความรักในศิลปะของเสริมคุณ คุณาวงศ์ บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งรวมผลงานศิลปะเพื่อจัดแสดงให้เห็นพัฒนาการของศิลปะไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยรวบรวมผลงานที่เป็นศิลปวัตถุโบราณ ผลงานที่ให้เห็นการปรากฎตัวของผลงานศิลปะที่มีเทคนิคตะวันตก สะท้อนในเห็นความเจริญงอกงามของศิลปะในประเทศไทยตลอดจนศิลปะร่วมสมัย รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ที่มีความน่าสนใจ 


ภายในพิพิธภัณฑ์ ก็ประกอบไปด้วยหลากหลายโซนจัดแสดงให้เราได้ไปรับชมกัน ซึ่งก็มีมากกว่า 19 โซนให้เราได้เดินชมกัน ซึ่งแต่ละโซนมีเอกลักษณ์และเนื้อหาเรื่องราวที่มีเรื่องเล่าซ่อนอยู่ในผลงานแต่ละชิ้นอย่างน่าสนใจ ได้แก่ สวนแห่งชีวิต, หอพระ, โถงบทสนทนาของยุคสมัย, ห้องมรดกไทย, ห้องอ่านหนังสือ, ห้องรุ่งอรุณของศิลปะไทย, โถงบันไดพอร์ตเทรต, ห้องจักรพันธุ์ โปษยกฤต, ห้องนั่งสมาธิ, โถงพุทธศิลป์, เพนท์เฮาส์ศิลปะนามธรรม, บันไดลับศิลปะ, สวนเขียน ยิ้มศิริ, ห้องพาเลอร์, ห้องครุฑ, ห้องทำงาน, ห้องคชาเลานจ์, เสริมคุณ สตูดิโอ, ห้องแกลลอรี่ และโถงบันได สามารถติดตามกิจกรรมต่างๆได้ทางช่องทาง : https://www.facebook.com/KunawongHouseMuseum

.

เปิดทำการเวลา 9.30 - 18.00 ทุกวันวันเสาร์ และ วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ - ศุกร์)

การเดินทาง : 

แท็กซี่ รถตู้ เข้าซอย ลาดพร้าว 54 ตรงมาจนสุดซอย มีลานจอดรถสำหรับผู้เข้าชม

รถไฟฟ้า สายสีเหลือง สถานี โชคชัยสี่ ทางออกที่ 4 ถึงพิพิธภัณฑ์ 400 เมตร 

รถประจำทาง สาย 122, 137, 145, 27, 44, 502, 545, 550, 8, 92, 96 ปอ.พ 15-3 ลงรถปากซอยลาดพร้าวและเดินเข้าซอย 54 มาประมาณ 400 เมตร ​

รถยนต์ส่วนตัว มีที่จอดรถสำหรับผู้ชม



4. หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ




ถ้าพูดถึงอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะย่านพระนคร อีกชื่อหนึ่งก็คงจะหนีไม่พ้นกับ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับอาคารสูง 5 ชั้น หอศิลป์นี้เกิดจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการของศิลปินไทย โดยเฉพาะศิลปินรุ่นใหม่ที่มีผลงานเด่นแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ตลอดจนศิลปินอาวุโสที่ได้รับการยกย่อง สลับสับเปลี่ยนจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนตลอดปี

     

พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมมี 4 ชั้น แบ่งเป็น ชั้นที่ 1- 4 แสดงนิทรรศการหมุนเวียนตลอดทั้งปี และชั้นที่ 5 สามารถใช้จัดงานกิจกรรมต่างๆ ได้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่งานศิลปะสู่สังคมในวงกว้าง สามารถติดตามกิจกรรมต่างๆได้ทางช่องทาง : https://www.facebook.com/queengallerybkk

.

เปิดทำการเวลา 10.00 - 19.00 ทุกวันจันทร์ – วันอาทิตย์ (ปิดวันพุธ)

การเดินทาง: 

รถโดยสารประจำทางสาย : 2, 10, 12, 15, 39, 44, 47, 56, 59, 60, 68, 70, 79, 157, 159, 183, 201, 503, 509, 511, 512, 556


เรือด่วนคลองแสนแสบ : สถานีท่าเรือผ่านฟ้า



5. MOCA พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย



หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชื่อดังในกรุงเทพกับ MOCA Museum of Contemporary Art ที่เหล่าคนรักงานศิลปะต้องเคยไปรับชมกันสักครั้ง ซึ่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยแห่งนี้ เกิดจากความหลงใหลในงานศิลปะของคุณบุญชัย เบญจรงคกุล

 

จุดเด่นของที่นี่คือ ตัวอาคารทรงสี่เหลี่ยมที่ได้แนวความคิดมาจากการนำหินทั้งก้อนมาแกะสลักอย่างประณีตบรรจงเป็นลายก้านมะลิ แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ในขณะเดียวกัน ลายฉลุ จะทำให้แสงธรรมชาติสามารถส่องลงมาในอาคาร รวมทั้งแสงที่ส่องลงมาในช่วงเวลาและฤดูกาลที่แตกต่างกันยังให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันไปด้วย โดยภายในอาคารก็แบ่งส่วนจัดแสดงเป็น 5 ชั้น จัดแสดงผลงานหลากหลาย ทั้งศิลปินไทยระดับตำนานเช่น ถวัลย์ ดัชนี, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ทวี นันทขว้าง, เฟื้อ หริพิทักษ์, จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ประกิต บัวบุศย์, อังคาร กัลยาณพงษ์ และศิลปินไทยอีกหลากหลายท่าน รวมถึงศิลปินต่างประเทศ ทั้ง จีน, เวียดนาม, มาเลเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น เป็นต้น สามารถติดตามกิจกรรมต่างๆได้ทางช่องทาง : https://www.facebook.com/mocabangkok

.

เปิดทำการเวลา 10.00 - 18.00 ทุกวันอังคาร - วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์)

วิธีการเดินทาง: 

1. BTS – ลงสถานีเกษตรศาสตร์ จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทางหรือรถรับจ้างสาธารณะ

2. MRT – ลงสถานีสวนจตุจักร จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทางหรือรถรับจ้างสาธารณะ

3. รถโดยสารประจำทาง – ลงป้ายสถานีปรมณู 1 รถโดยสารประจำทางที่ผ่านเส้นทางนี้ 29, 69,134, 187, 191, 504, 510, 555

4. รถยนต์ส่วนตัว – หากวิ่งมาทางถนนวิภาวดี-รังสิต ให้เลี้ยวซ้ายตรงป้ายที่เขียนว่าไปวัดเสมียนนารี จากนั้นเลี้ยวขวาโดยให้วัดอยู่ทางซ้ายมือ วิ่งตรงถนน Local Road มุ่งหน้าไปทางหลักสี่ ข้ามสี่แยกไฟแดงไป – ไฟแดง พิพิธภัณฑ์จะอยู่ทางซ้ายมือถัดจากตึกเบญจจินดา หรือสามารถเปิด Google Maps แล้วพิมพ์ ”MOCA BANGKOK”

ดู 187 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page