top of page

บุกโลกอัพไซด์ดาวน์ พบศิลปะที่อินสปาย ซีรี่ส์ฮ็อตสุด ณ ขณะนาว


บุกโลกอัพไซด์ดาวน์ พบศิลปะที่อินสปาย ซีรี่ส์ฮ็อตสุด ณ ขณะนาว


แรงแซงโลด! ซีรี่ส์ไฮป์สุดช่วงนี้ไม่มีใครแรงเกินโลกกลับหัวอัพไซด์ดาวน์ของสเตรนเจอร์ ธิงส์ ที่กำลังฉายอยู่บน Netflix สุดแน่นอน ซึ่งเพิ่งออกวอลลุ่มสองของซีซั่นสี่ไปเมื่อศุกร์ที่ 1 กรกฎาที่ผ่านมานี้เอง


เหมือนกับหนังหรือซีรี่ส์ที่มีคาแรคเตอร์ตัวเองชัดๆหลายเรื่อง ที่ตัวเนื้อหา ฉาก การแต่งกาย ดีไซน์ และเพลงประกอบ มักจะทำให้เรานึกถึงรูปแบบศิลปะต่างๆที่มีเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์ระดับตำนานโลก ซึ่งสเตรนเจอร์ ธิงส์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น นอกจากเนื้อหาและการออกแบบให้เป็นแนวเรโทรย้อนยุค 80 ด้วยแล้ว ก็โดดเด่นด้วยแนวศิลปะ(genre)และอาร์ตมูฟเม้นท์จี๊ดๆที่อัดแน่นอยู่มาก มีทั้งอินสปายกันมาแบบทั้งตั้งใจหรือบังเอิญก็เถอะ แต่ที่เต็มๆก็คือศิลปะแนว Lovecraft หรือ Cosmic Horror ที่เป็นซับชอนราหรือส่วนย่อยของศิลปะแนวสยองขวัญ(Horror) เพราะในสเตรนเจอร์ ธิงส์ก็จะมีมอนสเตอร์ตัวเด่น ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ Cthulhu ตัวละครเด่นที่เป็นเทพเจ้าหน้าตาเหมือนมอนสเตอร์ในนิยายของ H.P. Lovecraft ซึ่งศิลปะแนวเลิฟคราฟท์นี้ ก็มักจะวาดฝันจินตนาการถึงเทพที่มีลักษณะคล้ายปีศาจหมึกยักษ์หนวดยาว ปีกมังกร ร่างมนุษย์นี้มากมายจนแยกย่อยเป็นศิลปะแนวธูลู(Cthulhu Art)เลยทีเดียว นอกจากนั้นก็มีอินสปายจากศิลปะแนวที่ผนวกเรื่องอิงวิทยาศาสตร์ไปด้วยอย่าง Science Fiction Horror ด้วยศิลปะแนวๆนี้มักจะมีสัตว์ประหลาดเป็นตัวเด่นอยู่เสมอ อย่างศิลปะสกุลช่าง H.R. Giger ซึ่งทั้งโลกรู้จักกันผ่านหนังเรื่อง “เอเลี่ยน” นั่นเอง


บรรยากาศโลกเหนือจริงและฟอร์มบางอย่างในซีรี่ส์นี้ก็ชวนให้นึกถึงศิลปะแนวเหนือจริง(Surrealism) อย่างงานของหลุยส์ บูร์ชัวส์ โดยเฉพาะมูฟเม้นท์ย่อย เช่น Dystopian Surrealism ศิลปะแนวเหนือจริงถึงโลกที่เสื่อมทราม ซึ่งมีศิลปินเด่นๆอย่าง Beksinski เป็นต้น อีกมูฟเม้นท์คือ Lowbrow & Pop Surrealism ที่เกิดขึ้นในเมืองLA ช่วงปลายทศวรรษ 70 เป็นงานเหนือจริงแบบอันเดอร์กราวนด์จากการผสมของคอมมิกส์ ดนตรีพั้งค์ และวัฒนธรรมมันส์ๆสตรีทๆ ก็เป็นกลิ่นอายที่พบได้ในซีรี่ส์สเตรนเจอร์ ธิงส์ ซึ่งก็ร่วมสมัยด้วยกันกับการแทรกฟีลลิ่งโหดๆผสมสยองขวัญ แต่ก็ต่างกันที่ว่า Lowbrow นั้นจะติดกวนมันส์ๆ ตลกร้ายแบบประชดประชัน และมีส่วนผสมคอมมิกส์หรือบางทีก็ป็อปๆน่ารักนิดๆ


การระเบิดพลังจิตของแอล ตัวละครเอกในเรื่องและการไหลของพวกเถาวัลย์หรือหนวดก็ได้รับอิทธิพลมาจากอนิมะโคตรเกรียนอย่าง Akira และ Elfen Lied ที่เป็นมูฟเม้นท์ศิลปะในวัฒนธรรมเจ-ป็อป


พร้อมรึยัง! ถึงเวลาไปตะลุยงานอาร์ตสไตล์โลกอัพไซด์ดาวน์กันได้ละ... ลุยโลด!!


Todd Schorr


Todd Schorr ศิลปินอเมริกันกับศิลปะแนว Lowbrow ที่เกิดขึ้นยุค 70-80s ในสหรัฐฯ และภายหลังพัฒนามาเป็นศิลปะแนวป็อปเซอร์เรียลิสม์ ซึ่งเขาได้ผนึกภาษาภาพจากการ์ตูนเข้ากับทักษะฝีมือการวาดขั้นสูงแบบมาสเตอร์ในอดีตของโลก เขาได้ผสานการเล่าเรื่องราวซับซ้อนที่วิพากษ์ถึงสภาพของมนุษย์ในสไตล์กัดหยอกตลกร้าย ด้วยบรรยากาศแบบสยองขวัญและองค์ประกอบหลายอย่างทำให้นึกถึงศิลปะแนวเลิฟคราฟท์และซีรี่ส์สเตรนเจอร์ ธิงส์




Allen Koszowski


เอกลักษณ์ผลงานของ Allen Koszowski มาจากภาพวาดลายเส้นขาว-ดำ ที่แม้ว่าบางงานจะมีสีก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ด้วยอารมณ์เส้นสายที่เมามันส์ผนวกลวดลายพื้นผิวยึบยับกับการตัดเส้นกึ่งคอมมิกส์ รวมกับฟอร์มสีดำทึบที่ดูเข้มข้น ส่งผลให้มีงานของเขาปรากฎบนหนังสือนิยายแนวสยองขวัญมากมายจนเขาได้รับรางวัล L. Ron Hubbard Illustrators of the Future ถึงสิบปีติดกันเลยทีเดียว


Dan Mumford


ศิลปิน Dan Mumford มีผลงานที่เป็นอีกหนึ่งสไตล์ในจักรวาลของศิลปะเลิฟคราฟท์ ซึ่งเราจะเห็นสไตล์นี้ได้ในซีรี่ส์และโปสเตอร์หลายเอพิโซดของสเตรนเจอร์ ธิงส์ นั่นก็คือ การผสมผสานคอมมิกส์ยุคก่อนที่มีการตัดเส้นหนาและช่วงเงาที่เน้นสีดำที่เรียกว่าคอนทราสต์สูง ประกอบกับโทนสีเรโทรยุค80sและเส้นบวกฟอร์มกระชากกระชั้นแบบปกเพลงเมทัลที่เป็นตำนานในอดีต หลายปีที่ผ่านมาเขาได้แสดงผลงานในนิทรรศการศิลปะกับแกลเลอรี่หลายแห่งและโชว์ในเทศกาลมากมายทั่วอเมริกา


John Coulthart


ศิลปะแนวเลิฟคราฟท์ปรากฎในสเตรนเจอร์ ธิงส์อย่างเด่นชัด ศิลปินหลายคนที่ปังปุริเย่ในแนวนี้ก็มีมากมาย หนึ่งในนั้นคือ John Coulthart ศิลปินชาวอังกฤษที่ชนะรางวัลศิลปินแฟนตาซีโลกประจำปี 2012 กับงานที่ให้ฟิลลิ่งต้นแบบของสไตล์เลิฟคราฟท์อย่างมาก โดยเฉพาะความสยองขวัญที่ดูขรึมๆและเร้นลับแต่ทรงพลังจากคอนทราสต์จัดๆของแสงเงา


Louise Bourgeois


เมื่อเห็น Mind Flayer มอนสเตอร์เอกในซีรี่ส์นี้ จะไม่นึกถึง Maman ประติมากรรมยักษ์โดย หลุยส์ บูร์ชัวส์ ก็คงจะประหลาดมาก ด้วยความสูงท่วมหัวและมีหลายขาแต่ความสูงของขาที่ยกตัวขึ้นก็เกินสัดส่วนของแมงมุมทั่วไป ทำให้มีฟีลลิ่งคล้ายคลึงกัน ผลงานชิ้นนี้ได้ถูกอธิบายไว้ว่า มันเป็นเหมือนกับสิ่งมีชีวิตที่หลบหนีออกมาจากความฝัน ขนาดรูปทรงที่ใหญ่โตก่อร่างมาจากความกลัวในวัยเด็กของศิลปิน แมงมุมยักษ์ Maman (1999) ทอดเงาอันทรงพลังของร่างกายและจิตใจ ประติมากรรมใหญ่เท่าแมมมอธสูง 30 ฟุตชิ้นนี้ ถือเป็นหนึ่งในงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาชีพอันยาวนานของศิลปิน ตลอดผลงานมากมายที่กินเวลานานกว่าหกสิบปี


ผลงานของเธอมีทั้งที่เป็นสากลและเป็นส่วนตัวแบบลึกซึ้ง โดยผลงานชิ้นนี้ถ่ายทอดความทรงจำในวัยเด็กอันเจ็บปวดจากพ่อที่ไม่ซื่อสัตย์และแม่ที่รักเดียวใจเดียว เธอเป็นที่รู้จักจากงานสไตล์เซอร์เรียลลิสต์ ซึ่งผลงาน Maman สื่อถึงแม่ของศิลปินเอง แมงมุมที่ปกป้องไข่อันล้ำค่าของเธอในร่างที่แข็งเหมือนกรงเหล็ก กระตุ้นความหวาดกลัว ในความสูงใหญ่ของเธอ ซึ่งดูแล้วไม่สมดุลกับขาที่เพรียวบางพร้อมจะหัก สื่อถึงความเปราะบางอันเจ็บปวด


Zdzisław Beksiński


พอเห็นมอนสเตอร์ Demogorgon หรือที่ยังไม่โตเต็มวัยแล้วถูกเรียกว่า Demodog ในสเตรนเจอร์ ธิงส์แล้ว ก็ทำให้นึกถึงมอนสเตอร์ที่คลานอยู่ในภาพเพ้นท์ติ้งบรรยากาศฝันร้ายของ Zdzisław Beksiński ศิลปินแนวเหนือจริง(Dystopian Surrealism)ชาวโปแลนด์ที่ภาพวาดเขาจินตนาการถึงโลกอันเสื่อมทรามในอนาคต ซึ่งเป็นโลกแห่งหายนะและมีสัตว์ประหลาดวิ่งไล่ออกมากินคน แวดล้อมไปด้วยความตาย ซากปรักหักพัง ภูมิทัศน์ที่เต็มไปด้วยซากศพ โครงกระดูก ซึ่งภาพโหดๆนั่นก็เป็นเอกลักษณ์ของศิลปินที่คนจดจำได้



Jeff Soto


อาจจะเป็นความบังเอิญที่งานของ Jeff Soto มักมีบรรยากาศฉากหรือรูปวัตถุที่เห็นได้ในซีรี่ส์สเตรนเจอร์ ธิงส์ เขาเป็นทั้งจิตรกร นักวาดภาพประกอบ จิตรกรฝาผนัง ศิลปินที่แสดงงานิทรรศการมาแล้วในแกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก ตั้งแต่เด็กเขาได้ค้นพบการผสานระหว่างโลกของการวาดภาพเพ้นติ้งบนแคนวาสแบบเก่ากับกราฟิตี้บนกำแพง ซึ่งสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของเขาเกิดจากการสลายเส้นแบ่งของป็อปเซอร์เรียลเข้าแนวสตรีทอาร์ต



Katsuhiro Otomo’s AKIRA


ภาพยนตร์อนิเมะระดับตำนานอย่าง AKIRA (1988) ถือเป็นงานศิลปะมาสเตอร์พีซในเจแปนป็อปอาร์ต มูฟเม้นท์หนึ่งของศิลปะโลกได้ โดยเฉพาะความเป็นต้นแบบของมังงะและอนิเมะในยุคต่อๆมา และแถมให้อิทธิพลไปถึงศิลปินทางฝั่งตะวันตกยุคใหม่ด้วยเช่น สตรีทอาร์ท ป็อปเซอร์เรียสลิสม์ และนิวป็อปอาร์ตอีกด้วย จากจินตนาการการสลายฟอร์มเป็นเส้นสายและก้อนสสารไหลโฟลว์ จนถึงระเบิดพลังที่มีฟอร์มและสีสันมันส์หยด เราก็จะพบภาพเหล่านี้ในสเตรนเจอร์ ธิงส์ด้วยเช่นกัน


Pascal Blanché


ถึงจะทำเรื่องเกี่ยวกับเลิฟคราฟท์และธูลูก็ตาม แต่งานของศิลปิน Pascal Blanche ก็มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่ดูล้ำๆฟิวเจอริสติค สไตล์สีเรโทรนิดๆ และคู่สีที่ตัดกันแรงๆอย่างแดงและเขียว


แม้ว่าผลงานของPascal จะสร้างมาหลังจากสเตรนเจอร์ ธิงส์ออกฉายแล้ว และคงไม่ให้อิทธิพลต่อกันโดยตรง แต่ก็เป็นสายโลหิตร่วมกันที่ว่าสร้างสรรค์ศิลปะแนวเลิฟคราฟท์และธูลู เพราะเขาเป็นดิจิทัลอาร์ติสที่มีผลงานที่เป็นแนวเลิฟคราฟท์และธูลูหลายซีรี่ส์รวมถึงซีรี่ส์ที่มีชื่อว่า “Lovecraftian Pantheon”


เขาพูดถึงผลงานชื่อ Azathoth the Daemon Sultan ไว้ว่า “มันต้องการอาหาร”



Joel Harlow


ศิลปะแนวเลิฟคราฟท์ไม่ได้มีเพียงภาพวาดเท่านั้น แต่ก็มีงานสามมิติซึ่งมีศิลปินดีกรีออสการ์สาขาเมคอัพอาร์ติสอย่าง Joel Harlow ผู้โดดเด่นเรื่องงานสามมิติ เขาได้สร้างงานประติมากรรมบรอนซ์ที่สื่อถึงเทพเจ้าธูลูที่คงคุณลักษณะเด่นแบบมอนสเตอร์ตัวนี้ ที่ดูมีมนต์ขลัง ด้วยการสร้างพื้นผิวเป็นรอยย่นและการบากร่องเป็นริ้วๆซึ่งเป็นคาแรคเตอร์เด่นของศิลปินคนนี้


Andree Wallin


ผลงานของ Andree Wallin ให้ฟีลลิ่งยิ่งใหญ่แบบอีพิค ทำให้หนังใหญ่ระดับฮอลลีวู้ดบล็อคบัสเตอร์ให้เขาเป็นคอนเซปท์อาร์ติสหลัก ผู้ดีไซน์บรรยากาศของหนังเลยทีเดียว เช่น Oblivion (2010-2013), Star Wars: The Force Awakens (2013-2014), Star Wars: The Rise of Skywalker (2018) และ Jurassic World 3: Dominion (2019) เห็นรายชื่อหนังแล้วแทบจะขนลุกเลยทีเดียว ...แต่อย่างไรก็ตามงานคอนเซ็ปท์อาร์ตที่เป็นของเค้าเองก็เฉียบจนตาหลุด สมภาคภูมิความเป็นศิลปินที่สร้างงานแนวเลิฟคราฟท์ในสไตล์อีพิคอลังการ



H.R. Giger


H.R. Giger ศิลปินแนวเซอร์เรียลลิสม์ชาวสวิสผู้นี้เป็นที่รู้จักในภาพชีวกลศาสตร์อันน่ากลัวและมีความโดดเด่นในคาแรคเตอร์เป็นอย่างมากซึ่งก็โชว์ออกมาในหนังดังอย่าง เอเลี่ยน เป็นต้น เขาเคยกล่าวว่าเขาได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแนวเลิฟคราฟท์ แต่เราก็เห็นว่าผลงานของเขามีเอกลักษณ์ส่วนตัวมากซะจนเป็นศิลปะแขนงย่อยแบบสกุลช่างของเขาเองที่เรียกว่า Gigeresque เลยก็ว่าได้ ซึ่งเรารู้สึกถึง Gigeresque ในดีไซน์ของซีรี่ส์สเตรนเจอร์ ธิงส์ได้ในหลายๆส่วน


ที่มา: https://www.hplovecraft.com/


Stephen Hickman


ศิลปิน Stephen เป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะแนวLovecraftian ผ่านหน้าปกคอลเลคชั่นนิยายธูลูอันโด่งดังของ Robert E. Howard ซึ่งภาพวาดของStephenได้ถูกแปลงมาสู่รูปปั้นจริงๆจนเป็นที่กล่าวขานในแวดวง Lovecraftian อีกทั้งการันตีในความเป็นรุ่นใหญ่ของเขาในศิลปะแนวนี้จากรางวัลและเกียรติยศมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Hugo Award และ Chesley Award ถึงหกครั้ง รวมถึง Spectrum Gold Award อีกสองครั้ง เป็นต้น




Francois Launet


ผลงานภาพสีอะคริลิคของศิลปิน Francois Launet ถึงจะมีรูปแบบสกุลช่าง Giger ก็ตาม ผลงานมากมายของเขาได้รับอิทธิพลจากนิยายและศิลปะแนวเลิฟคราฟท์เป็นอย่างมาก ด้วยงานมีคาแรคเตอร์ส่วนตัวที่ไร้คำจำกัดความในเนื้อหาเรื่องราว ทำให้เกิดความรู้สึกน่าขนลุกอย่างยิ่ง




________________


ส่องรายละเอียดได้ในแคปชั่นของแต่ละรูปภาพ

หรืออ่านฉบับเต็มได้ทางเว็บไซต์: https://arttank.media/2022/07/06/upside-down/


ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page