top of page
  • รูปภาพนักเขียนKaew

เรียนท่านประธานสภาขออนุญาตเปิดประวัติศาสตร์ 6 รัฐสภารอบโลก ผ่านงานศิลปะ 6 ชิ้นจาก 6 ยุค


ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน เราได้เห็นเหตุการณ์บางอย่างในรัฐสภาที่ช่างดูวุ่นวาย สิ้นหวัง และไร้ความหมาย จนบางครั้งก็แอบสงสัยถึงความหมายในระบบที่มีอยู่คู่กับระบอบการปกครองที่เราเชื่อว่าประชาชนเป็นใหญ่นั้นเป็นอย่างนั้นจริงหรือ เราจะพาทุกท่านไปหาคำตอบกับความหมายของสภาในยุคสมัยต่างๆ ในหลากหลายภาษา ซึ่งรวมถึงภาษาภาพอย่างงานศิลปะจากหลากหลายประเทศกัน


คำว่า “สภา” นั้นในหลากหลายภาษามีรากศัพท์ที่แตกต่างกัน คำว่า सभा (สภา) ในภาษาสันกฤต มีความหมายที่คล้ายคลึงกันกับในภาษากรีกอย่าง ekklesia ซึ่งหมายถึงที่ไว้ชุมนุมกัน ในขณะเดียวกัน คำเรียกยุคใหม่ในภาษาอังกฤษอย่าง Parliament นั้นเป็นคำจากภาษาฝรั่งเศสโบราณที่หมายถึง “ที่พูด” ดังนั้นจึงเป็นคำที่มีความหมายอย่างลึกซึ้งในตัวเอง ซึ่งหมายถึงที่ ๆ ผู้คนใช้ในการชุมนุม พูดคุย ถกเถียงกัน เพื่อหาทางออกอย่างสันติ ซึ่งบ่อยครั้งสันติก็พังทลายลงเมื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้นมีอำนาจมากเกินไปจนระบบรัฐสภาไม่สามารถทำงานต่อไปได้


ระบบรัฐสภานี้สามารถย้อนไปได้ถึง 2500 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคเมโสโปเตเมียที่หลาย ๆ นครรัฐปกครองด้วยสภาผู้อาวุโส ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับระบอบสภาที่มีในยุคกรีกและโรมันในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนที่จะหายไปในช่วงจักรวรรดิโรมัน และฟื้นฟูอีกครั้งโดยประเทศอังกฤษ ที่นำมาซึ่งยุคสมัยใหม่ที่ได้เปลี่ยนแปลงโลกอย่างสิ้นเชิงในระยะเวลาเพียงไม่กี่ร้อยปี ซึ่งเราจะเล่าเรื่องประกอบไปกับงานศิลปะที่กล่าวถึงเหตุการณ์เหล่านั้นด้วย


การตั้งคำถามในยุคสมัยอันแสนวุ่นวายนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่การหาคำตอบก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด อาร์ต แท็งก์ มีเดียจะนำทุกท่านย้อนกลับไปหาคำตอบในประวัติศาสตร์ยุคเปลี่ยนผ่านของระบบสภา ที่วุ่นวายและมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันมากมาย ผ่าน 6 งานศิลปะ 6 เหตุการณ์ 6 ประเทศทั่วโลก ที่ถูกบันทึกเรื่องราวของสภาที่แตกต่างกัน ไปจนถึงปลายทางที่ชวนขบคิด ถึงอนาคตของระบอบการปกครองที่(เหมือนจะไม่ได้)มาจากเสียงประชาชนอย่างพวกเราอีกด้วย



“Pericles's Funeral Oration” (โวหารไว้อาลัยโดยเพริคลีส)

—โดย Philipp Foltz ในปี ค.ศ. 1826


สภาเอเธนส์กับโวหารสดุดีวีรบุรุษสงคราม


เพลิคลีสนั้นเป็นนักการเมืองชาวกรีกผู้โด่งดัง ในภาพเป็นเหตุการณ์ที่เพลิคลีสกล่าวโวหารไว้อาลัยในพิธีศพของทหารผู้เสียชีวิตในสงครามกลางเมืองกรีกหรือสงครามเพโลพอนนีเซียน ซึ่งเป็นสงครามระหว่างนครรัฐที่นำโดยเอเธนส์ และนำโดยสปาร์ตา โดยเพลิคลีสได้กล่าวถึงประโยคหนึ่งที่สำคัญต่อแนวคิดความยุติธรรมภายใต้กฏหมายดังว่า


“หากว่ากันด้วยกฏหมาย เรานั้นได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมภายใต้ความแตกต่าง ถ้าหากบุรุษผู้นั้นรับใช้รัฐได้ เขานั้นไม่ได้มีสิทธิเหนือกว่าใคร…”


ระบอบประชาธิปไตยทางตรงของเอเธนส์นั้นเปรียบเสมือนแม่แบบของการปกครองในยุคปัจจุบัน เอเธนส์ได้สร้างการปกครองรูปแบบนี้ขึ้นก่อนคริสตกาลถึง 500 ปี โดยชาวเอเธนส์จะชุมนุมบริเวณแท่นเนินเขาใจกลางกรุงเอเธนส์ที่เรียกว่า Pnyx ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเอเธนส์นั้นจะต้องเป็นประชากรชายผู้ผ่านการฝึกทางทหาร ซึ่งญัตตินั้นจะนับโดยการชูมือ หรือการโหวตด้วยสิ่งของ เช่น ก้อนหิน หรือเครื่องสังคโลก ถึงแม้หากเทียบกันหน่วยต่อหน่วยกับการปกครองในปัจจุบัน แทบจะต่างโดยสิ้นเชิง แต่ความสำคัญในอำนาจของประชาชนนั้นเป็นเหมือนหัวใจของการปกครองรูปแบบนี้


ถึงแม้ประชาธิปไตยเอเธนส์จะรุ่งเรืองหลายร้อยปี แต่ผลพวงจากสงครามและความกระหายอำนาจในภูมิภาค ทำให้เอเธนส์นั้นพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมือง และถูกกลืนโดยรัฐเผด็จการสปาร์ตาในเวลาต่อมา



The Death of Caesar (ความตายของซีซาร์)

— โดย Jean-Léon Gérôme ในปี ค.ศ. 1867


ปกติแล้วเราจะเห็นภาพความตายของ จูเลียส ซีซาร์ ในภาพเขียนสีน้ำมันของ Camuccini ที่วาดขึ้นในปี 1806 ซึ่งจะมีองค์ประกอบที่เน้นไปที่ตัวเอกอย่างซีซาร์ที่กำลังถูกล้อมสังหารโดยเหล่าวุฒิสภา แต่ในภาพเขียนสีน้ำมันของ Gérôme ภาพนี้มีความหมายที่ต่างออกไป โดยองค์ประกอบนั้นกลับเน้นไปเป็นกลุ่มวุฒิสภาที่กำลังประกาศชัยชนะในการปกป้องระบอบสาธารณรัฐ จากซีซาร์ที่ในขณะนั้นได้สถาปนาตนเป็นเผด็จการตลอดชีพไปแล้ว จากความนิยมที่ได้จากผลงานในการขยายดินแดนโรมันออกไปอย่างกว้างขวาง ในภาพจะเห็นตัวซีซาร์จอมเผด็จการ ที่นอนจมกองเลือดอยู่ในมุมมืดอย่างไร้ค่า แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างออกไปต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


สภาของสาธารณรัฐโรมันนั้นเกิดขึ้นก่อนเอเธนส์นานถึง 200 ปี แต่ขณะนั้นยังเป็นระบอบกษัตริย์ ต่อมาจึงปฏิวัติเป็นระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งปกครองกันสามส่วน คือ กงสุลผู้เป็นประมุข จำนวน 2 คน สภาเซเนทซึ่งเป็นสภาชนชั้นบนซึ่งเป็นได้ตลอดชีพ และสภาราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชนทั่วไป มีหน้าที่ในการเลือกกงสุลและพิจารณาการออกกฏหมาย


สภาของโรมันนั้นเรียกว่า Curia (คูเรีย) ซึ่งเป็นเสมือนหอประชุมของเหล่าเซเนทและกงสุล แต่จะไม่ได้มีอยู่ที่เดียวเหมือนรัฐในปัจจุบัน แต่จะกระจายอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของกรุงโรม ซึ่งเปลี่ยนและขยับขยายตามนโยบายขยายจำนวนสมาชิกสภาที่เพิ่มขึ้นในยุคปลายสาธารณรัฐ คูเรียที่โด่งดัง เช่น Curia Hostilia ที่เป็นรัฐสภาเก่าแก่ตั้งแต่ยุคอาณาจักร Curia Julia อันโด่งดังที่เริ่มสร้างโดยซีซาร์ และ Curia Pompey ซึ่งเป็นที่ตายของเขาดังในภาพวาดที่เกิดขึ้น


Charles I Demanding the Five Members in the House of Commons (พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 มีพระราชโองการจับกุมสมาชิกสภาทั้งห้า ณ สภาสามัญชน) —John Singleton Copley ในปี ค.ศ. 1785


เส้นทางประชาธิปไตยในประเทศแม่แบบประชาธิปไตยไทยอย่างอังกฤษนั้นก็ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่ใช้เวลาเกือบพันปีกว่าจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างทุกวันนี้ ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1


ในปีคริสตศตวรรษที่ 17 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ได้ขึ้นครองราชย์ และได้บัญญัติพระราชบัญญัติตามใจตัวเองที่เรียกว่า “Personal Rules” ขึ้น และถือวิสาสะปกครองอังกฤษโดยที่ไม่มีการเรียกประชุมรัฐสภาไป 11 ปี ซึ่งบริหารด้วยความเผด็จการทั้งในด้านศาสนาและภาษี จนกระทั่งล้มเหลวในสงครามการขยายดินแดนไปหาสก็อตแลนด์ จึงได้เรียกประชุมสภาขึ้นเพื่อขอให้มีการสนับสนุนทางการเงิน แต่หลังจากนั้นก็ถือวิสาสะยุบสภาที่ตั้งขึ้น แต่เมื่อไปทำสงครามกลับพบกับความพ่ายแพ้อีกครั้ง พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 เลยเรียกประชุมสภาอีกครั้งเพื่อหาเรื่องทำการจับกุมห้าสมาชิกสภา โดยอ้างว่าเป็นพวกที่ฝักใฝ่เข้ากับฝ่ายสก็อตแลนด์ แต่ก็ประสบความล้มเหลว เนื่องจากสมาชิกทั้งห้าคนได้ทำการหลบหนีไปก่อนแล้ว ถึงแม้พระเจ้าชาร์ลส์จะสั่งให้นำตัวมาก็ไม่เป็นผลเนื่องจากทางสภา ได้กล่าวว่าสมาชิกทั้งห้านั้นเป็นข้าของสภา หาใช่ข้าของกษัตริย์ไม่ จึงก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายนิยมกษัตริย์และฝ่ายนิยมสภา และสุดท้ายก็ลงเอยด้วยความตายของกษัตริย์ผู้คิดว่าตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าผู้ใดทั้งปวง


ซึ่งนั่นคือเหตุการณ์ในภาพที่ถูกวาดโดย Copley โดยที่พระเจ้าชาร์ลส์อยู่ตรงกลางภาพกำลังบัญชาเหล่าสมาชิกสภาให้จับกุมสมาชิกทั้งห้า เราจะเห็นได้ถึงความวุ่นวายในสภา แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นถึงความโอ่อ่าที่เรียบง่ายของรัฐสภา โดยที่หากเรากูเกิ้ลภาพของรัฐสภาดังกล่าวก็จะเห็นได้ถึงความอัตคัตคับแคบ แต่ก็ให้ความสำคัญกับแต่ละฝ่ายในสภาที่หันหน้าเข้าถกเถียงกัน มากกว่าที่จะเป็นการจัดที่นั่งแบบสภาโรงละครอย่างที่เราเห็นในประเทศแถบนี้


The First Continental Congress

(การประชุมสามัญสภาแห่งภาคพื้นทวีปครั้งแรก)

—Allyn Cox ในปี 1973-1974


ข้ามมาถึงปลายศตวรรษที่ 18 ณ จุดรุ่งเรืองของจักรวรรดิอังกฤษ ได้เกิดวิกฤตทางการเงินจากการทำสงครามต่อเนื่องกันถึงเจ็ดปีกับฝรั่งเศส ถึงแม้จะเป็นฝ่ายชนะแต่รัฐบาลอังกฤษก็ได้บังคับออกกฏหมายขูดรีดภาษีอย่างไม่เป็นธรรมต่อชาวอาณานิคมอเมริกัน จำนวน 13 รัฐขอบทะเลชายฝั่งตะวันออก ที่ถึงแม้จะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำหรับจักรวรรดิแต่ก็อยู่ห่างไกลกับแผ่นดินแม่ โดยอ้างว่าเป็นการปกป้องชาวอาณานิคมจากฝรั่งเศสจึงเป็นข้ออ้างที่อาจจะฟังไม่ขึ้นเท่าไหร่นักกับภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการประท้วงด้วยกลุ่มคนหนึ่งที่ปลอมตัวเป็นชนพื้นเมืองอเมริกัน ขึ้นไปโยนหีบบรรจุชาจำนวน 342 หีบ จากเรือของบริษัทอินเดียตะวันออกลงทะเล ซึ่งการประท้วงในครั้งนั้นได้ถูกโต้กลับด้วยการใช้กำลังโดยที่ไม่ได้ฟังเสียงของชาวอาณานิคมเลยแม้แต่น้อย จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตถึง 5 คนจากเหตุการณ์นี้ และอ่าวบอสตันถูกปิดจนไม่สามารถค้าขายได้ ทั้ง 13 รัฐจึงได้รวมตัวกันในสภาแห่งภาคพื้นทวีป (Continental Congress) ณ รัฐฟิลาเดเฟีย ในปี ค.ศ. 1776 เพื่อหารือกันถึงทางออกในครั้งนี้เป็นครั้งแรก ดังภาพวาดสีน้ำมันประดับเพดานทางเดินของอาคารรัฐสภาคอนเกรส ซึ่งในเหตุการณ์จริงที่สำคัญต่ออิสรภาพของชาวอเมริกันดังกล่าวเกิดขึ้นในห้องโถงช่างไม้แห่งหนึ่งเพียงเท่านั้น ซึ่งจะสามารถเห็นได้จากฉากหลังที่เรียบง่ายดังบ้านคน เก้าอี้ที่ก็อาจจะเพิ่งประกอบเสร็จในโรงไม้นั้น แต่ผลลัพท์ของการประชุมครั้งนั้นจึงได้ข้อสรุปที่ยิ่งใหญ่ ว่าด้วยสิทธิของชาวอาณานิคมจะต้องเท่าเทียมกับชาวอังกฤษ เกิดการจัดตั้งสมาคมค้าขายกับชาวอังกฤษ ถึงแม้ข้อเสนอนี้อาจถูกรัฐบาลเมินเฉย แต่ในอีกสองปีต่อมา ได้เกิดเป็นการประกาศอิสรภาพที่แสดงถึงความเป็นเสรีชนของชาวอเมริกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงว่าการตัดสินใจอะไรที่ยิ่งใหญ่ต่อปวงประชานั้นอาจไม่ได้จำเป็นต้องจัดการในโถงละครโอ่อ่าหรูหราอันว่างเปล่าก็ได้


Opening session of the General Assembly, 5 May 1789

“พิธีเปิดสมัยการประชุมสภาฐานันดร วันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1789”

—Auguste Couder ในปี 1839


เหตุการณ์ช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นอาจะดูช่างวุ่นวายและจบด้วยการนองเลือด แต่ถ้าหากเราไปดูถึงต้นตอจุดแตกหักแล้วนั้นอาจจะเจอเหตุผลของมัน ดังเช่นภาพเขียนสีน้ำมันพิธีเปิดสมัยการประชุมสภาฐานันดร ครั้งแรกในรอบ 175 ปี ของราชอาณาจักรฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 ณ พระราชวังแวร์ซาย ซึ่งเริ่มต้นจากเหตุการณ์สงครามเจ็ดปีเช่นเดียวกับเหตุการณ์ก่อนหน้า แต่ครั้งนี้กลับเป็นความพ่ายแพ้ ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่หนักยิ่งกว่า จึงได้จัดประชุมดังกล่าวขึ้น


องค์ประชุมหลักเป็นพระนักบวช (ฝั่งซ้ายล่าง) ขุนนาง (ขวาด้านใน ชุดสีเหลืองดำ) และชนชั้นสามอย่างสามัญชน (ขวาล่าง) ซึ่งเป็นประชากรถึง 98 เปอร์เซ็นในขณะนั้น (ราชอาณาจักรฝรั่งเศสในยุคนั้นมีประชากรถึง 28 ล้านคน) ซึ่งเสียงที่ถูกได้ยินนั้นแน่นอนว่าไม่เท่ากัน สังเกตได้จากความวุ่นวายที่กำลังเกิดขึ้นในหมู่ตัวแทนประชาชน ซึ่งเหตุการณ์หลังจากนี้จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ (Maximilien Robespierre) นักกฏหมายหนุ่มไฟแรงในขณะนั้น ได้แยกตัวไปก่อตั้งสภาของชนชั้นสามัญชนขึ้นมาเองหรือที่เรียกว่า สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) โดยจะใช้สำหรับการตัดสินใจกันเองโดยไม่ต้องผ่านกษัตริย์ และแน่นอนว่า สมัชชาแห่งนี้จึงถูกห้ามโดยรัฐบาล พวกเขาจึงได้หนีไปรวมตัวในสนามเทนนิสใกล้เคียง และจัดตั้งอีกครั้งโดยกล่าวปฏิญาณตนที่เรียกว่า The Tennis Court Oath ขึ้นมาเพื่อเป็นนิมิตรหมายที่ประชาชนจะปกครองกันเอง อันเป็นสัญญาณการเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในเวลาต่อมา




Illustration of the Imperial Diet of Japan

ภาพวาดสภานิติบัญญัติแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิ

—by Gotÿ Yoshikage, 1890


บางครั้งเราก็ต้องวิ่งตามความเจริญเสียบ้าง ดังเช่นประเทศญี่ปุ่นในปียุคสมัยเมจิ


หันมามองฝั่งเอเชีย ญี่ปุ่นนั้นถูกปกครองในระบอบโชกุนซึ่งเป็นผู้นำทางทหารโดยมีองค์จักรพรรดิเป็นเพียงสัญลักษณ์มานานหลายร้อยปี จนกระทั่งถูกความเจริญในรูปแบบเรือรบของสหรัฐมาจ่อปากอ่าวโตเกียว จนต้องเปิดประเทศในปี ค.ศ.1853 ความอ่อนแอของโชกุนในขณะนั้นทำให้ญี่ปุ่นต้องยอมแพ้แต่โดยดี กลุ่มไดเมียวทางใต้จึงก่อกบฏขึ้นและยกพลขึ้นเหนือ ซึ่งจะผ่านเกียวโตที่เป็นที่พำนักขององค์จักรพรรดิ เหล่าไดเมียวจึงได้สถาปนาองค์จักรพรรดิขึ้นให้มีอำนาจแทนโชกุนในขณะนั้น ซึ่งเมื่อยกพลถึงโตเกียว องค์จักรพรรดิก็ไม่รอช้าทำการปฏิรูปประเทศและจัดตั้งรัฐสภาขึ้นซึ่งมีชื่อว่า 帝国議会 (เทอิโคคุ จิไค) หรือในภาษาไทยนั้นคือ สภานิติบัญญัติแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิ ถึงแม้ว่าองค์ประชุมของสภานั้นจะประกอบไปด้วยสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร และสภาสูงหรือสภาราชมนตรี แต่ในการปฏิรูปนั้นกลับเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ทันการรุกรานทางการเมืองของตะวันตก โดยที่โชกุนต้องหลบหนีขึ้นไปถึงฮอกไกโด แต่ถึงกระนั้นการถ่วงดุลอำนาจก็ยังอยู่ในมือของที่ปรึกษาองค์จักรพรรดิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการทหารจนสุดท้ายสภาจึงถูกควบรวมภายใต้พรรคเดียวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

.

.

_______________


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารให้เราประชาสัมพันธ์ได้ที่ media@arttankgroup.co.th

Send us your Art news for PR here: media@arttankgroup.co.th

.

Art Tank Group บริการด้านศิลปะ ครบวงจร

ประมูลศิลปะ ขนส่งและติดตั้งศิลปะ อนุรักษ์งานศิลปะ อีเวนท์ศิลปะ

ติดต่อ : 061-626-4241


bottom of page